ตอนที่แล้วบทที่ 19 จินตนาการอันทรงพลังเกินกว่าคุณจะจินตนาการได้
ทั้งหมดรายชื่อตอน
ตอนถัดไปบทที่ 21 คำถามที่พบบ่อย (FAQ) ตอน 2

บทที่ 20 คำถามที่พบบ่อย (FAQ) ตอน 1


บทที่ 20 คำถามที่พบบ่อย (FAQ) ตอน 1

1. สำหรับนักเขียนมือใหม่ ควรอัปเดตนิยายกี่คำต่อวัน?

คำตอบ: ขึ้นอยู่กับว่าคุณสามารถเขียนได้มากแค่ไหนต่อวัน หากว่ากันตามปกติแล้ว แนะนำให้อัปเดตวันละสองถึงสามบทต่อวัน และมีสต๊อกไว้สักสามสี่บทหากเป็นไปได้ ถ้าคุณเป็นนักเขียนที่เขียนช้ากว่าสามพันคำต่อวัน นั่นก็จะมีความลำบากเพิ่มขึ้นหน่อย นักเขียนมืออาชีพแนะนำว่า ลองพยายามให้สุดความสามารถเพื่อเพิ่มความเร็วในการเขียนงานให้เร็วที่สุดเช่นเดียวกันกับสะสมงานให้ได้สักสามสิบสี่สิบบทขึ้นไปก่อน หลังจากนั้นคุณค่อยเริ่มอัปเดตวันละหนึ่งบทโดยเร็วที่สุด หลักจากที่คุณได้เซ็นสัญญากับเว็บไซต์และได้รับการโปรโมตแนะนำหนังสือออกใหม่ที่หน้าแรกของเว็บไซต์ คุณจะอัปเดตสองบทต่อวัน หลังจากนั้น เมื่อนิยายของคุณหมดวาระแนะนำและไม่ได้อยู่หน้าแรกเว็บไซต์แล้ว แนะนำว่าแค่อัปเดตวันละหนึ่งบทก็พอ แต่ถ้าคุณเป็นคนเขียนงานเร็วมาก สามารถเขียนได้วันละห้าพันคำ หรือได้ถึงเจ็ดพันห้าร้อยคำต่อวัน ขอแนะนำว่าให้รักษาความเร็วในการอัปเดตไว้ แค่อัปเดตสี่ถึงหกพันคำต่อวันก็เพียงพอ และคุณควรเก็บบทที่เหลือเป็นสต๊อก ซึ่งจะเป็นประโยชน์เมื่อเวลาที่นิยายของคุณได้รับการแนะนำที่หน้าแรกของเว็บไซต์อีกครั้ง หรือมีการแข่งขันจัดอันดับนิยายยอดนิยมขึ้น

2. มีเกร็ดคำแนะนำสำหรับนักเขียนมือใหม่บ้างไหม? เช่น บทแรกจำเป็นต้องทำให้ผู้อ่านตื่นเต้น คุณต้องแสดงปัจจัยความได้เปรียบ หรือดำเนินเรื่องถึงไคลแมกซ์แรกภายในสามหมื่นคำแรก?

คำตอบ:เกร็ดคำแนะนำสำหรับคำถามนี้มีแค่คำเดียว – “ว่องไว” คุณจำเป็นต้องเข้าเรื่องให้ไว ดึงให้ผู้อ่านมีอารมณ์ร่วมกับตัวละครหลักให้ไวที่สุด พร้อมกับแสดงองค์ประกอบของเหตุการณ์ในเรื่องให้เร็วที่สุด สำหรับองค์ประกอบไหนที่คุณจำเป็นพัฒนาการมันขึ้นไปก็น่าจะเป็นไปตามลำดับดังนี้: ระบุตัวตนของตัวละครหลัก สถานการณ์ปัจจุบัน และปัจจัยความได้เปรียบ องค์ประกอบสามอย่างนี้คือสิ่งที่จะบอกให้ผู้อ่านรู้ว่าตัวละครหลักคือใคร มีความสามารถอะไร และต้องต่อกรกับอะไรในขณะนั้น จากพื้นฐานองค์ประกอบดังกล่าว มันจะดีมากถ้าตัวละครหลักกำลังอยู่ในสภาวะถูกข่มเหงรังแก อยู่ในอันตราย กำลังพยายามเพิ่มระดับพลัง หรือกำลังจะแสดงสุดยอดฝีมือ พูดง่ายๆ ก็คือ หลังจากที่เราได้แสดงองค์ประกอบที่จำเป็นสามอย่างนั้นแล้ว ให้พบกับใครสักคนที่จะมาเป็นคู่ต่อสู้ หลังจากนั้นตัวละครหลักก็จะมีระดับพลังเพิ่มขึ้นโดยจัดการกับพวกคู่ต่อสู้ตัวเล็กตัวน้อยและมีไคลแมกซ์ย่อยในเรื่อง ไม่เพียงเท่านั้น คุณควรสร้างเหตุการณ์อันตรายขนาดย่อมอย่างเช่น ตัวละครหลักมีนัดหมายประลองฝีมือด้วยชีวิตอีกสามเดือนข้างหน้า หรืออีกหนึ่งเดือนต่อมา ตัวละครหลักเข้าสู่การแข่งขันศิลปะการต่อสู้ ดังนั้นคุณสามารถปรับแต่งเหตุการณ์ให้เห็นว่างานแข่งขันนี้มีความสำคัญต่อตัวละครหลักมากแค่ไหน และแสดงให้เห็นว่านักสู้คนอื่นดูถูกดูแคลนเขาเพียงใด อย่างไรก็ตามต้องยกความดีความชอบให้ปัจจัยความได้เปรียบที่มี ทำให้เขา/เธอประสบความสำเร็จ ทำให้ทุกคนตื่นตะลึงกันหมด วิธีเริ่มเรื่องลักษณะนี้ ผู้อ่านจะตั้งใจรอคอยดูความพัฒนาการของเรื่องต่อไป เมื่อคุณในฐานะนักเขียน เขียนเรื่องผ่านจุดนี้ไป คุณสามารถผ่อนคลายลงได้เล็กน้อย และพัฒนาพล็อตเรื่องตามที่คุณต้องการต่อไป ค่อยๆ แนะนำสภาพเหตุการณ์ใหม่และตัวละครรองเพิ่มเข้ามา ผลักดันเรื่องเข้าสู่พล็อตหลักต่อไป

3. ฉันรู้สึกว่า เมื่อเวลาที่ฉันเขียนเรื่อง มันดูสับสนวุ่นวายจริงๆ ฉันเขียนเหตุการณ์จบด้วยความยาวน้อยกว่าหนึ่งพันคำ และฉันรู้สึกว่าไคลแมกซ์ของเหตุการณ์ยังไม่ตื่นเต้นมากพอ ฉันไม่รู้จะทำอย่างไรดี?

คำตอบ: นั่นเป็นเพราะฝีมือในการเขียนบรรยายรายละเอียดเหตุการณ์ของคุณยังต้องพัฒนามากขึ้นกว่านี้ คุณอาจลองขยายเหตุการณ์นี้ออกไปเป็นสองพันคำเพื่อพัฒนาการเขียนบรรยายของคุณมากขึ้น พยายามพิจารณาเหตุการณ์จากทุกมุมมองและวิธีการ ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณเขียนฉากไคลแมกซ์ของเรื่องให้ตัวละครหลักชนะการประลองด้วยเวลาอันสั้น ถ้างั้นลองดูว่าคุณเขียนบทบรรยายเพียงพอไหม? คุณได้บรรยายหรือไม่ว่า ความสำคัญของอันดับหนึ่งของตัวละครหลักมีความสำคัญเพียงใด? ผลประโยชน์อะไรที่เกี่ยวข้องกับการได้อันดับหนึ่ง? เมื่อเขา/เธอไม่ได้รับอันดับหนึ่งจะมีผลที่ตามมาอย่างไร? ผู้คนอื่นๆ ดูถูกเขามากแค่ไหนก่อนหน้านี้? เขา/เธอรู้สึกว่าตนเองจะแพ้แน่นอนหรือเปล่า? มีใครบางคนแสดงความวางตัวทับถมตัวละครหลักหรือเปล่า? หลังจากที่ตัวละครหลักชนะ ผู้เข้าแข่งขันอื่นช็อกมากแค่ไหน? และผู้ชมมีปฏิกิริยาอย่างไร? ตัวละครหลักมีความยินดีมากแค่ไหน และผลประโยชน์อะไรที่เขาได้รับในตอนสิ้นสุดการแข่งขัน? ถ้าคุณสามารถเขียนบรรยายองค์ประกอบเหล่านี้ได้ คุณไม่ควรรู้สึกว่า บทบรรยายของคุณไม่พอเพียงอีกต่อไป

4. ฉันเฝ้าแต่จินตนาการว่าการเขียนเรื่องที่มีความยาวมากกว่าหนึ่งล้านคำเป็นเรื่องยากมาก ฉันควรเขียนเรื่องสั้นก่อนได้ไหม แล้วค่อยเปลี่ยนไปเขียนเรื่องขนาดสามสี่แสนคำ ก่อนจะเลื่อนไปเขียนเรื่องขนาดเกินหนึ่งล้านคำขึ้นไป จะดีไหม?

คำตอบ: นักเขียนมืออาชีพไม่สนับสนุนให้ทำอย่างนั้น ไม่ว่าคุณจะเขียนเรื่องสั้นไปกี่เรื่องก็ตาม มันจะไม่ช่วยให้การเขียนเรื่องยาวง่ายขึ้นแต่อย่างใด มีคำแนะนำว่า คุณควรลองแบ่งการดำเนินเรื่องนิยายของคุณออกเป็นส่วนๆ ในแผนผังการดำเนินเรื่องที่ค่อนข้างเป็นอิสระเหตุการณ์ต่อเหตุการณ์จากเนื้อเรื่องหลัก วิธีนี้ คุณสามารถแบ่งนิยายเรื่องยาวเป็นส่วนสั้นๆ ยกตัวอย่าง ในนิยายประเภทแฟนตาซีตะวันออก เป็นเรื่องปกติทีเดียวที่จะมีตอนสภาพเหตุการณ์ที่แตกต่าง ก่อนหน้าและหลังจากตัวละครเลื่อนระดับชั้นไปสู่ระดับอมตะ การเปลี่ยนสภาพเหตุการณ์ยิ่งเป็นเรื่องปกติมากในนิยายที่เกี่ยวกับการเพิ่มระดับพลัง

5. ฉันจะเขียนฉากต่อสู้สนุกๆ ได้อย่างไร?

คำตอบ: นักเขียนมืออาชีพได้ให้คำแนะนำว่า อย่างแรก คุณสามารถลองยืนขึ้นและทำท่าเลียนแบบการต่อสู้จริงด้วยตัวคุณเอง จินตนาการว่าคุณกำลังต่อสู้อยู่กับศัตรู หลังจากนั้นก็เขียนรายละเอียดการต่อสู้ที่คุณจินตนาการได้ แน่นอนว่าคุณสามารถดูฉากต่อสู้จากภาพยนตร์ และบันทึกรายละเอียดการต่อสู้นั้นลงสมุดโน้ตเพื่อฝึกฝนการเขียนบรรยายฉากต่อสู้ อย่างที่สอง แค่จำเป็นต้องอ่านหนังสือนิยายมากขึ้น เพื่อดูว่านักเขียนอื่นเขียนฉากต่อสู้อย่างไร นักเขียนมืออาชีพเชื่อว่า ตราบใดที่คุณลองทำสองวิธีนี้ คุณจะค่อยๆ เรียนรู้วิธีเขียนฉากต่อสู้ได้โดยธรรมชาติไปเอง

6. ฉันจะควบคุมตัวแปรความได้เปรียบได้อย่างไร? ฉันพบว่า พลังความได้เปรียบตัวละครหลักของฉันมีมากเกินไป ทำให้การดำเนินเรื่องไม่มีอารมณ์ลุ้นระทึกเลย ไม่ว่าเขาจะสู้ชนะหรือไม่

คำตอบ: หากคุณไม่รู้วิธีเขียนเรื่องที่ตัวละครหลักมีพลังมากเกินพิกัด ถ้างั้นขอแนะนำว่าให้คุณเปลี่ยนพลังความได้เปรียบ ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณเขียนเรื่องนิยายจากเกมที่ตัวละครหลักเป็นแฮกเกอร์ ผู้ซึ่งแฮกเข้าไปในเกมและปรับค่าระดับพลังให้กับตัวละครเกมของเขาทุกตัวมีพลังสูงสุด นั่นหมายถึงเขาสามารถปราบสัตว์ประหลาดในเกมได้ด้วยการจู่โจมครั้งเดียว ซึ่งแน่นอนว่าเรื่องจะหมดความสนุกไปจากการต่อสู้เพื่อเพิ่มระดับโดยสิ้นเชิง แต่ถ้าหากคุณเปลี่ยนเรื่องเป็นตัวละครหลักแฮกเข้าเกมและปรับแต่งเร่งการพัฒนาการระดับพลังตัวละครเกม แทนที่จะเพิ่มพลังให้เป็นสูงสุด นี่จะเป็นการแก้ปัญหาทั้งหมดภายในครั้งเดียว

7. ฉันจะทำอย่างไรให้ผู้อ่านสนุกกับเหตุการณ์ในเรื่องเหมือนอย่างที่ฉันสนุกเมื่อได้อ่านมัน?

คำตอบ: อย่างแรกเลย คุณต้องมีตัวแปรการสร้างอารมณ์ร่วม เป็นรากฐานอยู่กับตัวคุณ และเขียนเหตุการณ์ของเรื่องที่ทำให้ผู้อ่านสร้างอารมณ์ร่วมไปกับตัวละครหลัก คุณต้องหาเหตุผลที่ถูกต้อง ว่าทำไมผู้อ่านถึงจะมีอารมณ์ร่วมไปกับบางฉากในเรื่องให้ได้ คุณจำเป็นต้องเข้าใจว่าผู้อ่านต้องการอะไร สิ่งเหล่านี้ขึ้นอยู่กับคุณเป็นคนตัดสินใจทั้งสิ้น แค่เขียนฉากอะไรก็ตามที่คุณรู้สึกว่ามันน่าตื่นเต้นมากในนิยายของคุณ อีกทั้งคุณยังต้องปูเหตุการณ์เพื่อเข้าช่วงไคลแมกซ์ ตัวอย่างเช่น ถ้าตัวละครหลักทำภารกิจที่ยากมากสำเร็จ คุณต้องบอกเล่าว่าภารกิจนั้นมันยากมากขนาดไหน และสำคัญมากเท่าใดต่อตัวละครหลัก ผู้คนต่างดูถูกเขา/เธอมาตลอดว่าต้องล้มเหลว และความยากลำบากอื่นๆ ก่อนหน้า ถ้าคุณปูพื้นเหล่านี้ไว้ ผู้อ่านจะกลายเป็นตื่นเต้นและมีอารมณ์ร่วมไปกับเรื่องโดยธรรมชาติเช่นกัน

8. ฉันจะเขียนเรื่องความขัดแย้งอย่างไรดี? ทำอย่างไรถึงจะคงความขัดแย้งในเรื่องให้ต่อเนื่องไป เพื่อที่ผู้อ่านจะได้ติดตามอ่านต่อไปให้ได้รู้ผลลัพธ์ในตอนท้าย และมีความกังวลต่อตัวละครหลัก?

คำตอบ: การเขียนเรื่องความขัดแย้ง ขอแนะนำให้อ่านบทความที่ได้เขียนแนะนำไปก่อนหน้า จะได้รายละเอียดมากกว่า สำหรับการทำให้ผู้อ่านเกิดความกังวลต่อตัวละครหลัก สิ่งนี้ขึ้นอยู่กับความสามารถของคุณ แต่มันก็มีเทคนิคที่ง่ายบางอย่างที่ใช้ได้ เช่น บรรยายเปรียบเทียบ แสดงให้เห็นถึงว่าคู่ต่อสู้ของตัวละครหลักนั้นทรงพลังมากแค่ไหน วิธีนี้คือใช้ความทรงพลังของคู่ต่อสู้ที่ดูเหมือนจะเหนือกว่าตัวละครหลักมาก ทำให้ผู้อ่านที่มีอารมณ์ร่วมเกิดความห่วงใยตัวละครหลักขึ้นมาได้ สำหรับการสร้างความคาดหวังให้ผู้อ่าน นั่นยิ่งง่ายกว่า ทั้งหมดที่คุณต้องทำคือบอกเป็นนัยว่า ตัวละครหลักของคุณจะชนะตอนท้ายในที่สุด และต่อไปจะมีความขัดแย้งรุนแรงในอนาคต นี่จะทำให้ผู้อ่านเฝ้ารอคอยเหตุการณ์ความขัดแย้งที่จะมาถึงนั้นร

9. ฉันควรเขียนโครงเรื่องโดยรวมกี่คำ สำหรับนิยายที่ความยาวประมาณหนึ่งล้านคำ?

คำตอบ: ความยาวโครงเรื่องโดยรวม ขึ้นอยู่กับความต้องการของคุณเป็นหลัก ไม่มีมาตรฐานกำหนด แต่อย่างไรก็ตาม มีคำแนะนำว่าคุณควรเขียนโครงเรื่องเป็นส่วนๆ หลังจากกำหนดกรอบการทำงานสำหรับนิยายของคุณแล้ว อย่างแรก คุณควรออกแบบสภาพเหตุการณ์หลักและพล็อตเรื่องหลักโดยรวมให้เสร็จในหัวก่อน หลังจากนั้นคุณก็ขยายความว่าเรื่องจะเริ่มต้นและจบอย่างไร กับมีสถานการณ์สำคัญมากในช่วงกลางเรื่อง ซึ่งจะช่วยตรึงกรอบการทำงานให้มั่นคงมากขึ้น จากรากฐานเรื่องที่ได้ ตอนนี้เราสามารถเขียนโครงเรื่องสำหรับแต่ละส่วน ยกตัวอย่างเช่น ส่วนแรกของเรื่องอาจมีสองแสนห้าหมื่นคำ และจะเกิดเรื่องอะไรในตอนต้นเรื่อง? คุณสามารถเขียนโครงเรื่องคร่าวๆ ไว้ เช่นหนึ่งประโยคเป็นตัวแทนของหนึ่งหมื่นคำ และหลังจากนั้น คุณต้องการไคลแมกซ์ตอนจบช่วงต้นเรื่องแบบไหน ต่อมา คุณลองเขียนโครงเรื่องแบบมีรายละเอียดมากขึ้น เพื่อใช้สำหรับเขียนเนื้อเรื่องสามหมื่นคำแรก อย่างเช่น จะเขียนอะไรในแต่ละบท และไคลแมกซ์ย่อยอะไรที่คุณจะเขียนในเนื้อเรื่องสามหมื่นคำแรกนี้ ในขณะที่คุณกำลังเขียนเนื้อเรื่องสามหมื่นคำแรกใกล้เสร็จแล้ว คุณสามารถเริ่มเขียนโครงเรื่องแบบละเอียด สำหรับเนื้อเรื่องสามหมื่นคำต่อมาได้เลย

..................................................................................

0 0 โหวต
Article Rating
0 Comments
Inline Feedbacks
ดูความคิดเห็นทั้งหมด