บทที่ 12 รูปลักษณ์นิยายออนไลน์ของคุณ (3)
บทที่ 12 รูปลักษณ์นิยายออนไลน์ของคุณ (3)
5. เรื่องย่อ
เรื่องย่อก็เหมือนกับชื่อเรื่อง มันเป็นสิ่งแรกที่ผู้อ่านจะอ่านเพื่อให้รู้ว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร เมื่อผู้อ่านเกิดความสนใจในนิยายของคุณเพราะเห็นปกและชื่อเรื่องหรือจากโฆษณาอื่นๆ สิ่งแรกเลยที่พวกเขาจะทำคือเข้าไปอ่านเรื่องย่อ เพราะฉะนั้นเรื่องย่อของคุณจึงสำคัญมากไม่แพ้กัน แม้ว่าเรื่องย่อควรจะมีเพียงแค่ไม่เกินหนึ่งร้อยคำ คุณควรสร้างสรรค์มันด้วยความรอบคอบ และทุ่มเทเวลาให้มันราวกับการเขียนเนื้อเรื่องเป็นหมื่นๆ คำ จะเป็นการดีมาก
นักเขียนบางคนรู้สึกว่าการเขียนเรื่องย่อมันน่าปวดหัวจริงๆ ดังนั้นพวกเขาจึงเขียนลวกๆ ไปเลย หรือบางคนก็ไม่เขียนมันซะเลย การทำแบบนี้ไม่ฉลาดเลยทีเดียว
การเขียนเรื่องย่อนั้นไม่เหมือนทำการบ้าน เพราะมันคือโอกาสที่จะปรับปรุงให้นิยายของคุณมีแรงดึงดูดผู้อ่านเข้ามา และได้รับความนิยมมากขึ้น สำหรับนักเขียนที่ต้องการทำงานเลี้ยงตัวเป็นนักเขียนมืออาชีพ พื้นที่เขียนเรื่องย่อนั้นสำคัญมาก ชนิดที่คุณไม่สามารถจ่ายเงินเพื่อให้ได้มันมา การเขียนอย่างลวกๆ ให้เสียพื้นที่นั้น มันน่าสมเพชอย่างเหลือเชื่อ
หากมองบางมุม เรื่องย่อก็เหมือนกับชื่อหนังสือ คุณจำเป็นต้องแสดงสิ่งที่น่าสนใจในนิยายของคุณ ต่อผู้อ่านด้วยข้อความเพียงไม่กี่ประโยค แต่ถ้าเปรียบเทียบกันจริงๆ การเขียนเรื่องย่อนั้นง่ายกว่าการคิดชื่อเรื่องอย่างมาก เพราะไม่ว่าจะอย่างไร คุณสามารถใช้คำได้มากกว่า ดังนั้นคุณสามารถให้ข้อมูลต่อผู้อ่านได้มากยิ่งขึ้น
เว็บไซต์ส่วนมากไม่ค่อยเข้มงวดกับความยาวของเรื่องย่อนิยาย ถึงกระนั้นก็ตาม เรื่องย่อที่ดีควรจะมีความกระชับที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ สิ่งนี้ทำให้เรื่องย่อมีคุณลักษณะเหมือนบทเริ่มเรื่องของเนื้อเรื่องนิยาย ถ้าเรื่องย่อของคุณไม่เรียบง่าย ประเด็นที่น่าสนใจที่คุณต้องการสื่อ จะถูกทะเลแห่งข้อมูลที่ไม่สำคัญท่วมทับไป ทำให้ผู้อ่านไม่สามารถสังเกตเห็นได้ และหากเรื่องย่อของคุณยาวเกินไป มันก็จะไม่เป็นเรื่องย่ออีกต่อไปด้วย
สำหรับนักเขียนมือใหม่ คุณควรทำตามกฎ “ข้อห้าม 5 ข้อ” และ “ข้อควรทำ 5 ข้อ” ดังต่อไปนี้
ก่อนอื่นเรามาคุยกันเรื่องห้าข้อห้ามของการเขียนเรื่องย่อกันก่อน
ข้อห้ามแรก คุณควรเลี่ยงการใช้คำเข้าใจยาก บทกวี และเรื่องย่อแบบลึกลับ สิ่งที่กล่าวมาเหล่านี้มีปัญหาพื้นฐานเหมือนกันอย่างหนึ่ง
หากผู้อ่านลองดูหนังสือของคุณแล้วพบว่า ในเรื่องย่อมีแต่บทกวีที่ยากจะหยั่งถึง หรือคำกล่าวปรัชญาที่ผู้อ่านไม่เข้าใจจริงๆ นั่นจะทำให้ผู้อ่านเข้าใจว่า เนื้อเรื่องนิยายของคุณก็คงเข้าใจยากเหมือนกับเรื่องย่อไปโดยปริยาย คงเหลือแต่ผู้อ่านที่เบื่อหน่ายมากเป็นพิเศษ ที่อาจลองเปิดนิยายของคุณอ่านดู หลังจากนี้จะไม่มีคนธรรมดาคนใดสนใจมันอีกเลย เรื่องย่อประเภทนี้แย่ยิ่งกว่าการไม่มีเรื่องย่อเสียอีก มันคือข้อห้ามเด็ดขาดของการเขียนเรื่องย่อ
ข้อห้ามที่สอง ตัวนักเขียนเองไม่ควรแสร้งทำเป็นดีกว่าคนอื่น นักเขียนประเภทนี้มักจะมีประสบการณ์อ่านในกระทู้ออนไลน์ต่างๆ แล้วได้เห็นคนวิพากษ์วิจารณ์ต่อต้านเรื่องประเภทเติมเต็มให้ชีวิต ดังนั้นเขาจะเขียนหมายเหตุลงไปประมาณว่า “หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่แบบนั้นแน่นอน” “นิยายเรื่องนี้ไม่มีการเติมเต็มให้ชีวิตแม้แต่นิดเดียว” และอื่นๆ...
นักเขียนเหล่านี้ไม่ตระหนักว่า ไม่ว่าผู้คนจะวิจารณ์นิยายประเภทเติมเต็มให้ชีวิตแค่ไหน ผู้อ่านจะอ่านนิยายประเภทนี้มากยิ่งขึ้นไปอีก ฐานแฟนนักอ่านนิยายแนวนี้ที่จ่ายเงินเพื่ออ่าน จะไม่แคร์ต่อคำวิพากษ์วิจารณ์แม้แต่นิดเดียว เสียงวิพากษ์วิจารณ์จากกระทู้ทั้งหลาย จริงๆ แล้วไม่ได้เป็นตัวแทนสังคมที่บอกว่านิยายเรื่องในควรได้รับความนิยมแต่อย่างใด ถ้าคุณอยากทำสวนความต้องการของตลาด นั่นหมายความว่า คุณไม่อยากได้เงินจากงานของคุณ
นี่ยังไม่พูดถึงการกล่าวหมายเหตุอย่างนั้นในเรื่องย่อ ซึ่งคล้ายกับคนไม่มีระดับ หากนิยายของคุณสูงส่งอย่างที่คุณบอก คุณต้องแสดงมันออกมาในนิยายและคุณภาพของเรื่องย่อ มากกว่าตัวนักเขียนร้องตะโกนป่าวประกาศ “ฉันเขียนนิยายที่สะอาดบริสุทธิ์อย่างกับหิมะขาว!”
ข้อห้ามที่สาม คือการเขียนเรื่องย่อซ้ำซากและธรรมดาเกินไป ตัวอย่างเช่น เขียนเรื่องย่อให้เหมือนกับว่า มันสามารถเป็นเรื่องย่อให้กับนิยายศิลปะการต่อสู้ หรือนิยายจีนกำลังภายในหมดทุกเรื่อง เรื่องย่อแบบนี้จะทำให้ผู้อ่านคิดว่านิยายของคุณต้องน่าเบื่อเป็นพิเศษแน่นอน ดังนั้นเรื่องย่อแบบนี้ก็เลวร้ายกว่าการไม่มีเรื่องย่อเลยเหมือนกัน
ข้อห้ามที่สี่ อย่าโฆษณาสิ่งที่ไม่มีในนิยายของคุณ ความจริงก็คือ เรื่องย่อนั้นไม่เหมือนการเขียนโครงเรื่อง มันไม่จำเป็นต้องสะท้อนว่าเนื้อเรื่องจะเป็นอย่างไรทั้งหมด ที่จริงคุณสามารถแม้กระทั่งเขียนให้เกินจริงและปรับเปลี่ยนองค์ประกอบสำคัญบางอย่าง แต่อย่างไรก็ตาม หากเนื้อหาของเรื่องย่อไม่เกี่ยวกับเนื้อเรื่องหลักเลย หรือมีความเกี่ยวข้องกันเพียงนิดเดียว สิ่งนี้จะทำให้ผู้อ่านไม่พอใจ แล้วทำให้คุณเสียผู้อ่านไปโดยไม่จำเป็นด้วย
ข้อห้ามที่ห้า การมีรายละเอียดในเรื่องย่อมากเกินไป ที่บอกเรื่องราวทั้งหมดในเนื้อเรื่อง บอกเกี่ยวกับพล็อตสำคัญที่จะเกิดขึ้นตลอดการดำเนินเรื่อง และบอกผลลัพธ์ตอนท้าย! แม้ว่าคุณจะเขียนเรื่องย่อได้อย่างยอดเยี่ยม มันก็ยังเป็นผลเสียกับเรื่องของคุณ หากผู้อ่านได้รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นล่วงหน้า เป็นเรื่องธรรมดาทีเดียวที่พวกเขาจะหมดความสนใจที่จะอ่านนิยายของคุณต่อไป
นั่นก็คือข้อห้าม 5 ข้อที่นักเขียนทุกคนควรหลีกเลี่ยงเมื่อเขียนเรื่องย่อ แล้วคราวนี้ข้อควรทำมีอะไรบ้าง ที่ช่วยให้เขียนเรื่องย่อที่ดีได้?
ข้อควรทำแรก เรื่องย่อที่ง่ายต่อการอ่าน
คำที่สำคัญมากในที่นี้คือ “ง่าย” ความง่ายเป็นรากฐานที่จำเป็นของการเขียนเรื่องย่อที่ดี คุณจำเป็นต้องอธิบายว่า เรื่องมันเกี่ยวกับอะไร ในขณะที่แสดงจุดสำคัญด้วยการใช้คำให้น้อยที่สุดเท่าที่จะน้อยได้
ข้อควรทำที่สอง เรื่องย่อที่ดูดี
นอกจากอ่านง่ายแล้ว เรื่องย่อที่ดีควรคำนึงถึงรูปลักษณ์ภายนอกของมันด้วย เรื่องย่อของคุณควรเลือกใช้ย่อหน้าและคำที่เหมาะสม เพื่อเลี่ยงการเป็นกระดานบทความขนาดใหญ่ และคุณควรจัดคำให้เรียบร้อยที่สุด เมื่อมันขึ้นไปอยู่บนหน้าเว็บไซต์แล้วดูเหมือนน่าอ่านมาก
อีกทั้งคุณควรเลี่ยงการใช้ตัวสัญลักษณ์พิเศษทั้งหลาย เช่น @ # $ % ^ หรือคำประดิษฐ์ใหม่ในเรื่องย่อของคุณ แน่นอนว่าถ้าใช้คำเหล่านั้นหรือสัญลักษณ์เพื่อสร้างอารมณ์ขัน หรือเป็นสไตล์เฉพาะตัวของนิยายเรื่องนั้น ก็สามารถใช้ได้ตามต้องการ
ข้อควรทำที่สาม เรื่องย่อของคุณควรบอกให้ผู้อ่านได้รู้ว่า นิยายของคุณเป็นแนวเรื่องใด
แนวเรื่องในที่นี้ไม่ได้หมายถึงประเภทหลัก (genre) ที่ทุกคนรู้กันอยู่แล้ว เรากำลังพูดถึงแนวคิดทั่วไปของเรื่อง
ตัวอย่างเช่น นิยายของคุณเป็นแนวกลับชาติมาเกิด หรือเรื่องของวิญญาณย้ายไปเข้าร่างคนอื่น? ตัวละครหลักมีพลังเวทมนตร์อะไรหรือไม่? เป็นนิยายเกี่ยวกับธุรกิจหรือการเมืองเป็นหลัก? เป็นนิยายสงครามหรือนิยายแนวตลก? และแนวอื่นๆ “แนวเรื่อง” ทุกแนวที่ว่า ควรจะสื่อสารถึงผู้อ่านให้เร็วที่สุดที่จะเร็วได้
อย่างเช่นกรณีตัวอย่างนี้ หากคุณเขียนนิยายประวัติศาสตร์ทางเลือก มันจะดีมากถ้าคุณสามารถบอกถึงประเด็นสืบเนื่องให้ผู้อ่านรู้ในเรื่องย่อ ว่าตัวละครหลักย้อนกลับไปอดีต อาชีพดั้งเดิมของเขาและมีฝีมือคืออะไร ยุคสมัยไหนที่เขากลับไป เขามีตัวตนเป็นใครในยุคอดีต และเขาตั้งใจจะทำอะไรในยุคนั้น
ข้อควรทำที่สี่ แสดงออกถึงจุดขายหลักของนิยายของคุณ
อย่างที่พูดกันโดยทั่วไป นวนิยายทุกเรื่องควรมีจุดขายหลัก หรืออาจพูดได้ว่า ตัวละครหลักต้องมีคุณสมบัติบางสิ่งเป็นความได้เปรียบ ประเด็นนี้จะโดดเด่นในทุกเรื่องที่เกี่ยวกับพลังลึกลับ ตัวละครหลักมีพลังพิเศษบางอย่างไปตลอดจุดขายหลักของเรื่อง ไม่สำคัญว่าจุดขายนี้คืออะไร มันจะดีที่สุดที่คุณจะบอกผู้อ่านให้รู้ในเรื่องย่อ เพื่อที่พวกเขาจะได้เข้าใจว่า ตัวแปรการเติมเต็มให้ชีวิตในเรื่องคืออะไร
แน่นอนว่านวนิยายบางเรื่องดูเหมือนไม่มีจุดขายพิเศษเช่นนั้น อย่างเช่นนิยายประเภทกลับชาติมาเกิด บางทีตัวละครหลักของคุณไม่มีความสามารถพิเศษอะไร นอกจากแค่กลับชาติมาเกิด แต่การกลับชาติมาเกิดในเรื่องก็ถือว่าเป็นความได้เปรียบอย่างหนึ่งเหมือนกัน คุณจำเป็นต้องเอ่ยถึงว่าตัวละครหลักกลับชาติมาเกิดในเรื่องย่อด้วย เท่านั้นก็เพียงพอแล้ว
จุดขายของนิยายของคุณไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่คุณสมบัติความได้เปรียบเท่านั้นอย่างแน่นอน แม้ว่าคุณอาจจะมีแค่ความคิดสร้างสรรค์พื้นๆ แต่ตราบใดที่คุณมีพล็อตที่ดีมากและเรื่องดำเนินไปด้วยความตื่นเต้นจนผู้อ่านรู้สึกมีส่วนร่วมไปด้วยอย่างลึกซึ้ง หรือคุณมีการบรรยายรายละเอียดของเรื่องได้ดีมาก หรือมีสไตล์การเขียนแบบอารมณ์ขัน คุณสามารถอธิบายสิ่งที่ดีเหล่านี้ลงในเรื่องย่อได้ แน่นอนว่าการใส่สิ่งเหล่านี้ลงในเรื่องย่อไม่ได้พิสูจน์อะไรมาก แต่อย่างน้อยมันจะช่วยให้ผู้อ่านรู้ว่าเขากำลังจะอ่านนิยายแบบไหน
ข้อควรทำที่ห้า แก่นแท้ของเรื่องควรจะบอกในประโยคแรก
ข้อนี้ไม่ค่อยเกี่ยวกับการเขียนมากนัก เนื่องจากมันเกี่ยวกับกลไกการทำงานของระบบออนไลน์และอินเทอร์เน็ตมากกว่า เหตุผลมันง่ายมาก ในปัจจุบันนี้ นวนิยายออนไลน์ ไม่ได้เผยแพร่อยู่แค่เว็บอ่านนิยายหลักเท่านั้น ยังมีเว็บอื่นๆ อีก และช่องทางไร้สายทั้งหลาย แอปอ่านนิยาย และแหล่งออนไลน์อื่นๆ อีกมาก ที่อาจโฆษณานิยายของคุณไปด้วยเหมือนกัน
โดยธรรมชาติแล้ว นวนิยายที่ปรากฏบนเว็บไซต์ส่วนใหญ่ ไม่ได้ถูกโพสต์ทีละคำหรือทีละเล่มโดยทีมงานเว็บไซต์ แต่ใช้คอมพิวเตอร์โปรแกรมคัดลอกและโพสต์อัตโนมัติ นอกจากข้อมูลสำคัญอย่างชื่อเรื่องและชื่อผู้แต่งแล้ว โดยทั่วไปโปรแกรมส่วนใหญ่จะก๊อบปี้ประโยคแรกของเรื่องย่อ ลงไปแสดงเพื่อโฆษณาให้นิยายของคุณ
เห็นได้ชัดว่าส่วนแรกของเรื่องย่อ โดยเฉพาะประโยคแรกกลายเป็นส่วนสำคัญไปโดยปริยาย
หากประโยคแรกที่ผู้อ่านเห็นเมื่ออ่านเรื่องย่อของคุณคือ “นิยายเรื่องนี้ได้เปิดเผยแพร่ให้อ่านแล้ว และช่องดิสคอร์ดคือ...” แบบนี้จะช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจได้อย่างไรว่านิยายของคุณเกี่ยวกับอะไร และอะไรเป็นสิ่งน่าสนใจในเรื่อง? คำตอบก็ชัดเจนอยู่แล้ว มันไม่ช่วยเลย
อาจกล่าวได้ว่า ประโยคแรกของเรื่องย่อ คือเรื่องย่อของเรื่องย่อทั้งหมดของคุณ มันคือการแนะนำเรื่องแบบพิเศษ นั่นคือมันอยู่ระหว่างชื่อเรื่องและเรื่องย่อที่เหลือทั้งหมดของคุณ
ไม่ว่าจะอย่างไร สิ่งควรทำ 5 ข้อ และสิ่งต้องห้าม 5 ข้อนี้ คือความต้องการพื้นฐานของการเขียนเรื่องย่อ นักเขียนมือใหม่จำเป็นต้องเข้าใจว่า การเขียนเรื่องย่อไม่ใช่การแนะนำเรื่องนิยายของคุณจริงๆ หรือโครงเรื่องอย่างย่อ ที่จริงมันคือการฉวยโอกาสจากการแนะนำเรื่องเพื่อดึงดูดผู้อ่านให้มากขึ้น ธรรมชาติของมันที่แท้จริงคือการเขียนโฆษณาให้นวนิยายนั่นเอง!
6. รีวิวหนังสือ
รีวิวหนังสือคืออีกแหล่งโฆษณานิยายของคุณต่อผู้อ่าน การรีวิวหนังสือไม่ได้ทำโดยนักเขียนเอง แต่นักเขียนยังมีสิทธิ์ควบคุมส่วนนี้ได้บ้างไม่มากก็น้อย การรีวิวหนังสือมีแนวโน้มสูงที่จะสร้างผลกระทบต่อความนิยมของตัวนวนิยายอย่างมาก
แค่ลองคิดดูว่า หากคุณคลิกที่นวนิยายบางเรื่องที่คุณไม่เคยอ่านมาก่อน และเห็นผู้รีวิวหนังสือบ่นกันเกือบทุกคน ตำหนิว่านิยายเรื่องนี้เหมือนขยะชิ้นหนึ่ง คุณยังอยากอ่านมันอยู่อีกไหม? เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องปกติทีเดียว ที่ผู้อ่านจะดูที่หน้ารีวิวหนังสือก่อนที่จะอ่านหนังสือตัวจริงต่อไป
นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมหน้ารีวิวที่ดูสงบสุขจะช่วยเรื่องความนิยมของนิยายของคุณได้ดีกว่า อย่างน้อยสุด พยายามอย่าทำให้หน้ารีวิวหนังสือ กลายเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้นิยายของคุณล้มเหลวเป็นดีที่สุด
ที่จริงแล้วไม่มีคำแนะนำอะไรมากนักเกี่ยวกับการจัดการกับหน้ารีวิวหนังสือ ทุกคนเข้าใจอยู่แล้วว่า การมีคะแนนรีวิวที่ดีก็ดีกว่าอยู่แล้ว และเลี่ยงที่จะเติมเชื้อไฟให้ใครที่ด่าว่านิยายของคุณ หรือแม้แต่ด่านักเขียนเอง มีคำเตือนจากมืออาชีพว่า ในฐานะนักเขียน คุณควรใจเย็นให้มาก และไม่ถูกครอบงำด้วยความโกรธเมื่อต้องรับมือกับพวกนักรีวิวปากจัด
นั่นเป็นเพราะวิธีที่ดีที่สุดในการรับมือกับพวกรีวิวหนังสือในแง่ลบ คืออย่าไปสนใจไปจากพวกเขา แทนที่จะไปโต้เถียงกับผู้รีวิวให้เสียเวลา หากคุณต้องการจัดการหน้ารีวิวหนังสือด้วยตัวคุณเอง คุณสามารถใช้ลูกเล่นเล็กๆ น้อยๆ เช่นช่วยให้พวกรีวิวที่ดีได้คะแนนกดไลค์มากและกลายเป็นรีวิวอันดับบนสุดได้ สำหรับพวกรีวิวแย่ จะเป็นการดีกว่าที่จะไม่ลบรีวิวแง่ลบทิ้งไปดื้อๆ หรือแม้แต่กระทั่งไปโต้กลับ ซึ่งนั่นก็จะกลายเป็นคุณกำลังขัดแย้งกับผู้อ่านเสียแล้ว
ที่จริงแล้วหากคุณใจเย็นและไตร่ตรอง คุณจะพบว่าผู้อ่านที่ช่างวิจารณ์เหล่านี้เป็นพวกที่น่ารักที่สุด ถ้าคุณในฐานะนักเขียน สามารถทนอ่านความเห็นของพวกเขาได้จนหมด คุณจะได้เรียนรู้มากขึ้น และสามารถพัฒนาฝีมือขึ้นในฐานะนักเขียนได้เป็นอย่างดี
7. สถิติของนิยายของคุณ
หัวข้อนี้ค่อนข้างจะพิเศษสำหรับเรื่องการสร้างรูปลักษณ์นิยายของคุณ
หากเปรียบเทียบกับทุกสิ่งที่กล่าวมา หัวข้อนี้จะเหมือนกับเรื่องรีวิวหนังสือที่กล่าวมาก่อนหน้ามากกว่า ถ้ามองผิวเผิน สถิตินิยายของคุณและการรีวิวหนังสือไม่เกี่ยวอะไรกับนักเขียนโดยตรง เพราะมันถูกตัดสินจากด้านผู้อ่าน แต่ที่จริงแล้วผู้อ่านก็ได้รับอิทธิพลโน้มนำจากเนื้อหานิยายของคุณด้วย ในขณะเดียวกันนักเขียนเองก็สร้างผลกระทบต่อสถิติด้วยเหมือนกัน
อย่างไรก็ตาม สถิติของนิยายนั้นสำคัญมากกว่ายอดรีวิวหนังสือมากนัก นั่นเป็นเพราะว่าสถิติไม่เพียงส่งผลกระทบต่อเรื่องนิยายของคุณ มันยังส่งผลโดยตรงต่อการตัดสินใจของบรรณาธิการหนังสือ อีกทั้งสถิติส่งผลต่ออันดับนิยายของคุณ และเกี่ยวข้องอย่างมากกับความนิยมของนิยายของคุณด้วย
สำหรับนักเขียนมือใหม่กับหนังสือเล่มใหม่ของเขา เป็นธรรมดาที่นิยายของคุณจะมียอดอ่านน้อยตอนเริ่มต้นเผยแพร่ และยังยากที่คุณจะแข่งขันใครๆ เพื่ออันดับต่างๆ นอกจากอันดับหนังสือออกใหม่ ดังนั้น สถิติของนิยายของคุณยังไม่สูงเท่ากับนักเขียนที่ตั้งหลักได้แล้ว จะเห็นว่าสถิติสามารถมีพลังโน้มนำอย่างมาก นักเขียนมือใหม่สามารถลองวิธีการดังต่อไปนี้ เพื่อปรับปรุงตัวเลขสถิติของตนเองได้
(1) โหวตให้ตนเอง
โหวตแรกที่นักเขียนโหวตให้ตนเอง เห็นได้ชัดว่าไม่มีผลอะไรมาก แต่อย่างไรก็ตาม การโหวตให้ตนเองไม่ใช่เพื่อหนึ่งคะแนนโหวตนั้น แต่เพื่อให้นักเขียนมือใหม่ทำความเข้าใจเว็บไซต์ว่าทำงานอย่างไร หน้าที่การทำงานของมัน วิธีโหวต และวิธีทำความเข้าใจความเห็นของผู้อ่านเมื่อพวกเขาทำการโหวต การจัดอันดับหลายประเภทแตกต่างกัน รวมถึงการเข้าใจวิธีเพิ่มหนังสือเข้าในห้องสมุดส่วนตัวของผู้อ่านด้วย... และการทำงานอื่นๆ ของเว็บไซต์ นักเขียนมือใหม่ก็ควรเรียนรู้ไว้ด้วย
(2) ขอให้เพื่อนโหวตให้
คุณสามารถขอให้เพื่อนสนิทช่วยโหวตให้ โดยเฉพาะเพื่อนที่เป็นนักเขียนด้วยกัน นี่เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยปรับปรุงสถิตินิยายของคุณ แน่นอนว่าวิธีนี้ไม่ได้ช่วยให้คุณขึ้นถึงระดับแถวบนสุด มันเป็นการช่วยให้นักเขียนมือใหม่พัฒนาความสัมพันธ์และการสื่อสารระหว่างนักเขียนด้วยกัน ขณะเดียวกันก็ช่วยเหลือกันและกันไปด้วย นี่ยังไม่รวมถึงว่าเป็นวิธีที่ดีในการเริ่มต้นอย่างก้าวกระโดดของนิยายของคุณ ในขณะที่เพิ่งเริ่มต้นด้วยความนิยมเพียงน้อยนิด
(3) ขอให้ผู้อ่านโหวต
แม้ว่าจริงๆ แล้วคุณยังไม่จำเป็นต้องกังวลเรื่องนิยายของคุณว่าจะติดอันดับหรือไม่ ขณะที่คุณยังเป็นนักเขียนมือใหม่อยู่ คุณยังต้องเข้าใจเหตุผลนี้ไว้ เด็กที่รู้วิธีร้องไห้จะได้นมไปดื่ม การขอให้ผู้อ่านโหวตให้ สามารถส่งผลดีมากกับจำนวนโหวตให้นิยายของคุณที่ได้รับในท้ายที่สุด
แน่นอนว่านักเขียนมือใหม่โดยปกติจะไม่มีผู้อ่านมากนักในตอนแรก แต่ในสถานการณ์อย่างนี้ ยิ่งนิยายของคุณยิ่งใหม่และความนิยมน้อย อิทธิพลของผู้อ่านไม่กี่คนจะมีมากขึ้นในช่วงเริ่มต้น
นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมนักเขียนมือใหม่ยังสามารถขอให้ผู้อ่านโหวตให้นิยายของพวกเขา แต่ก็ไม่จำเป็นต้องทุ่มเทความพยายามมากเกินไปในเรื่องนี้ คุณต้องรู้ว่าอะไรสำคัญที่สุดในการทำงานของคุณเสมอ
ทั้งหมดที่ร่ายยาวมาถึงสามบทความนี้คือ “รูปลักษณ์” ที่คุณต้องจัดการเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีต่อนิยายของคุณต่อไป
แม้ว่านักเขียนมืออาชีพจะบอกเป็นพันๆ ครั้งว่า สิ่งที่ตัดสินว่านิยายของคุณจะล้มเหลวหรือไม่นั้น คือคุณภาพของตัวนิยายเอง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดในบทความนี้ สามารถสร้างอิทธิพลชี้นำความนิยมโดยรวมให้นิยายของคุณได้ หวังว่านักเขียนมือใหม่อย่างคุณทุกคนจะทำงานหนักเพื่อสร้างสรรค์นิยายให้มีคุณภาพ และใช้ประสบการณ์ที่ได้นี้ให้เป็นประโยชน์เพื่อให้นิยายของคุณกลายเป็นที่นิยมมากขึ้น
...................................................................................