บทที่ 10 รูปลักษณ์นิยายออนไลน์ของคุณ (1)
บทที่ 10 รูปลักษณ์นิยายออนไลน์ของคุณ (1)
เมื่อคุณเขียนนิยายออนไลน์ “รูปลักษณ์” ในที่นี้หมายถึงสิ่งห่อหุ้มและสิ่งที่เห็นภายนอกของตัวนวนิยาย นั่นคือปกนั่นเอง
ในชีวิตประจำวัน เรารู้ดีกันอยู่แล้วว่าความสำคัญของการบรรจุภัณฑ์มีอิทธิพลต่อยอดขายดีของสินค้าเพียงใด บ่อยครั้งเลยที่บรรจุภัณฑ์นั้นสำคัญมากกว่าตัวสินค้าเสียอีก แม้ว่าจะเป็นเช่นนั้น แต่นักเขียนหลายคนมีแนวโน้มว่าจะละเลยเรื่องบรรจุภัณฑ์นิยายของพวกเขา พวกเขาเชื่อว่าสิ่งนี้เป็นหน้าที่ของทีมงานที่เว็บไซต์ และทีมงานเว็บไซต์เท่านั้นที่สามารถช่วยออกแบบหน้าปกที่สวยงามบนหน้าเว็บนิยายออนไลน์ได้
สิ่งที่นักเขียนไม่ได้ตระหนักคือไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ไหนที่คุณโพสต์นิยายของคุณ คุณในฐานะนักเขียน สามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับรูปลักษณ์นิยายของคุณได้มากทีเดียวเช่นกัน ตัวแปรเหล่านี้มีอิทธิพลกับความสำเร็จหรือล้มเหลวของนิยายของคุณได้ เนื่องจากการปรับปรุงรูปลักษณ์ของมันให้ดีมากยิ่งขึ้น ง่ายมากกว่าการปรับปรุงเนื้อหาในนวนิยายเอง อาจกล่าวได้ว่าเรื่องนี้ก็สำคัญเป็นพิเศษไม่แพ้เรื่องอื่นเลย
สำหรับการปรับปรุงรูปลักษณ์ของนิยายของคุณ สามารถจัดหมวดหมู่เป็น 7 รายการดังที่เห็นภายใต้หัวข้อย่อยข้างล่างนี้
1. ชื่อเรื่อง
ในบรรจุภัณฑ์ที่ห่อหุ้มนิยายของคุณ หนึ่งในองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของนวนิยายออนไลน์คือ ชื่อเรื่อง สำหรับนิยายเรื่องใดก็ตาม ในสถานการณ์ปกติ ผู้อ่านจะพบนิยายของคุณจากชื่อเรื่องก่อนอะไรทั้งสิ้น ชื่อเรื่องคือตัวแปรสำคัญมากในการตัดสินใจของผู้อ่านที่จะคลิกเข้าไปอ่านเรื่องย่อของคุณหรือไม่ อีกทั้งยังช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจองค์ประกอบสำคัญของนิยายของคุณมากขึ้น ดังนั้น คงไม่จำเป็นต้องอธิบายให้ยืดยาวว่าชื่อเรื่องนิยายนั้นมีความสำคัญมากเพียงใด
ถ้าอย่างนั้น ชื่อเรื่องนิยายแบบไหนถึงเรียกว่าดี? นักเขียนมืออาชีพต่างเชื่อว่าชื่อเรื่องที่ดีควรจะมีคุณสมบัติตามรายการข้างล่างนี้
(1) เรียบง่าย
เรียบง่ายในที่นี้หมายถึงชื่อที่ใช้คำความหมายง่ายต่อการเข้าใจขนาดว่านักเรียนประถมก็สามารถจำได้ ดีกว่าการตั้งชื่อด้วยคำศัพท์สูงและความหมายซับซ้อนเพื่อให้ฟังดูแฟนซี แต่มีแค่เพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่อ่านออกได้
(2) ชื่อเป็นคำภาษาอังกฤษเท่านั้น
อย่าใช้ชื่อเรื่องเป็นคำภาษาอื่นๆ และไม่ควรมีตัวเลข เครื่องหมายวรรคตอน หรือตัวอักษรพิเศษใดในชื่อเรื่อง ทั้งหมดนี้จะทำให้ชื่อเรื่องของคุณดูเป็นมืออาชีพ และในขณะเดียวกันก็ทำให้ผู้อ่านเซิร์ชหาเจอได้ง่ายอีกด้วย
(3) อ่านง่ายและจำได้ง่าย
บางที “จำได้ง่าย” อาจทำให้นักเขียนมือใหม่งงงวย แต่ที่จริงมันเป็นเรื่องของการอ่านชื่อได้ง่าย ชื่อเรื่องที่ดี ผู้อ่านควรอ่านออกเสียงได้อย่างลื่นไหล นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมคุณไม่ควรใช้คำที่ออกเสียงยาก ไม่อย่างนั้น ถ้าผู้อ่านไม่สามารถแม้กระทั่งจำชื่อเรื่องได้ แล้วพวกเขาจะจำเนื้อเรื่องข้างในได้อย่างไร?
(4) อย่ายาวเกินไป
ข้อนี้ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับการอ่านชื่อเรื่อง ถ้าหากนิยายของคุณชื่อยาวเกินไป มันยากที่ผู้อ่านจะจำชื่อเรื่องได้ และทำให้การเซิร์ชหายากขึ้นด้วย หนังสือโดยเฉลี่ย ชื่อมีคำประมาณสองถึงหกคำเท่านั้น
มีบางสิ่งที่นักเขียนทุกคนควรตั้งข้อสังเกตไว้เกี่ยวกับความยาวของชื่อเรื่องนิยาย มีบางคนเคยกล่าวไว้ว่า นิยายออนไลน์ ชื่อยิ่งสั้นยิ่งดี เพราะช่วยทำให้นิยายของคุณได้อันดับใกล้ด้านหน้าเว็บ ถ้ามองในมุมของระบบอินเทอร์เน็ตแล้ว นี่ถูกต้อง เพราะเว็บไซต์หลายแห่งมักจัดให้เรื่องที่ชื่อสั้นๆ ขึ้นก่อน ในบริเวณแนะนำหนังสือน่าอ่านในหน้าแรกของเว็บไซต์ ดังนั้นชื่อเรื่องที่สั้นกว่า จะไปอยู่บริเวณส่วนหน้าโดยธรรมชาติ แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุผลนี้อย่างเดียว ไม่ควรทำให้เราสรุปว่าชื่อเรื่องสั้นดีกว่าเสมอไป
อิทธิพลของชื่อเรื่องนวนิยายมีตัวแปรหลายอย่างเกี่ยวข้อง และการได้ไปอยู่ในรายการแนะนำหนังสือน่าอ่าน เป็นเพียงส่วนเล็กๆ เท่านั้น แน่นอนว่ามันเป็นเรื่องดีที่ได้อยู่ในอันดับต้นๆ ของโซนแนะนำหนังสือ แต่ถ้าคุณตั้งชื่อสั้นเพื่อการนี้โดยเฉพาะ คุณจะเสียมากกว่าได้ อีกอย่าง แม้ว่าคุณจะมีชื่อนิยายที่สั้น ไม่มีอะไรรับประกันว่าคนอื่นจะไม่ตั้งชื่อสั้นเหมือนกัน ถ้าหากนิยายของคุณไปอยู่ตรงกลางรายการล่ะ? ถ้าจะกล่าวอย่างตรงไปตรงมา การได้ไปอยู่ทางซ้ายหรือตรงกลางของรายการแนะนำหนังสือ มันไม่มีความแตกต่างกันเลย
(5) อย่าตั้งชื่อเข้าใจยาก
เมื่อคุณเลือกชื่อเรื่องนิยายของคุณ แนวคิดควรจะเหมือนกับตอนเขียนนิยาย คือคำนึงถึงผู้อ่านทั่วไปเป็นหลัก และเนื่องจากคุณกำลังเขียนนิยายออนไลน์อยู่ ผู้อ่านออนไลน์ส่วนใหญ่ชอบอ่านอะไรที่เข้าใจได้ง่ายรวดเร็ว ถ้าชื่อเรื่องนิยายของคุณเข้าใจยาก หรือเป็นบทกวี หรือฟังดูเป็นปรัชญาเกินไป ความนิยมของเรื่องจะได้รับผลกระทบอย่างมาก ผู้อ่านส่วนใหญ่อาจไม่คลิกนิยายของคุณเพื่ออ่านเรื่องย่อเลยด้วยซ้ำ
(6) ตามกระแสให้พอเหมาะ
ในบางมุมมอง การตั้งชื่อตามกระแสนิยมก็เป็นความได้เปรียบอย่างหนึ่ง ตัวอย่างเช่น เนื่องจากนิยายจีนกำลังภายในเรื่อง “ห้องสมุดเส้นทางสู่สวรรค์” ได้รับความนิยมอย่างสูง บางทีคุณอาจเขียนนิยายชื่อเรื่อง “ห้องสมุดเส้นทางสู่นรก” ซึ่งจะทำให้นิยายของคุณได้รับความสนใจขึ้นมาบ้างโดยธรรมชาติ
อย่างไรก็ตาม มันค่อนข้างเห็นได้ชัดว่าไม่ใช่สิ่งที่ดีนักต่อผู้อ่านหรือต่อเว็บไซต์ หากคุณตั้งชื่อนิยายตามกระแสนิยมมากเกินไป เป็นการง่ายที่เว็บไซต์จะกดนิยายของคุณไม่ให้หาเจอได้ง่าย ยกตัวอย่าง ถ้าคุณตั้งชื่อ “ห้องสมุดเส้นทางสู่นรก” จริงๆ มันจะเป็นการยากที่เรื่องของคุณจะได้รับการแนะนำที่หน้าแรกของเว็บ เพราะมันจะไปใกล้เคียงเกินไปกับนิยายยอดนิยมเรื่อง “ห้องสมุดเส้นทางสู่สวรรค์” ไม่เพียงเท่านั้น ยังไม่เป็นผลดีกับตัวนักเขียนเองด้วย เพราะใช้ชื่อเลียนแบบอย่างนั้น จะทำให้ผู้อ่านบางส่วนไม่พอใจไปด้วย ทำให้การดึงดูดผู้อ่านยากขึ้นด้วย
ดังที่กล่าวมาแล้ว นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมนักเขียนมือใหม่ควรทำตามกระแสนิยมแต่พอเหมาะ และจับตาดูว่าชื่อนิยายลักษณะไหนได้รับความนิยม หลังจากนั้นคุณก็สร้างสรรค์ชื่อเรื่องที่มีความเหมือนทางความหมาย แต่ไม่ใช่เหมือนโดยคำชื่อเรื่อง
(7) แสดงออกถึงความเฉพาะตัวของนิยายของคุณ
ชื่อนวนิยายที่ดีควรสื่อความหมายเฉพาะตัวของมันเอง ความเป็นไปได้ที่ดีที่สุดคือ ชื่อเรื่องของคุณสื่อถึงความปรารถนาหลัก – การเติมเต็มในเรื่องของคุณ ตัวอย่างเช่นนวนิยายเรื่อง “ย้อนกลับไปสู่อาณาจักรหยวน” สามารถบอกเรื่องราวสองอย่างกับคุณได้ทันทีคือ ย้อนกลับไปอดีตและเป็นนิยายประวัติศาสตร์จีนโบราณ หรือแฟรนไชส์ชื่อดังอย่าง “สไปเดอร์แมน” แค่ชื่อก็บอกคุณง่ายๆ แล้วว่าเป็นเรื่องของคนที่มีความสามารถพิเศษจากแมงมุม และเป็นเรื่องแบบฮีโร่ผู้พิทักษ์
สรุปก็คือ เมื่อคุณตั้งชื่อนิยายของคุณ วิธีที่ดีคือรวบรวมและจัดระเบียบคำศัพท์ที่เกี่ยวกับเรื่องและตัวแปรที่น่าสนใจของเรื่อง หลังจากนั้น จัดหมวดหมู่และปรับปรุงคำเหล่านั้นให้มองเห็นพล็อตเรื่องแง่มุมใดแง่มุมหนึ่ง แล้วเรียบเรียงเป็นชื่อนิยายของคุณอีกที ท้ายที่สุด คุณสามารถคิดชื่อเรื่องที่ยอดเยี่ยมโดยอ้างอิงจากรายการเจ็ดข้อข้างบนได้อย่างไม่มีปัญหา
2. เลือกประเภทของนิยายเพื่อกำหนดหมวดหมู่นิยายของคุณ
หลังจากเลือกชื่อให้นิยายของคุณแล้ว คุณจะเลือกหมวดหมู่ให้ประเภทนิยายของคุณ ที่จริงจะเรียกว่าเลือกก็คงไม่ถูกนัก เพราะประเภทนิยายของคุณได้ถูกเลือกจากแนวเรื่องที่คุณเลือกเขียนอยู่แล้ว ไม่ใช่คุณในฐานะนักเขียนเลือกตามชอบใจ
มีสิ่งสำคัญมากเกี่ยวกับเรื่องการเลือกหมวดหมู่ของประเภทนิยาย และมีเพียงกฎเดียวเท่านั้นคือ “อย่าตั้งใจโฆษณาผิดหมวดของประเภทนิยาย” เพราะผลลัพธ์การโฆษณาผิดประเภทจะให้ผลเสียกับทุกคน
ตัวอย่างเช่น แม้ว่าคุณเขียนนิยายลึกลับสมัยใหม่อย่างเห็นได้ชัด แต่คุณตั้งค่าประเภทนิยายของคุณเป็นประเภทประวัติศาสตร์ทางเลือก เพราะเหตุนี้ เมื่อผู้อ่านที่ชอบนิยายประวัติศาสตร์ทางเลือก เกิดมาเลือกอ่านนิยายของคุณ แต่ในที่สุดพวกเขาจะรู้โดยเร็วว่ามันผิดประเภทและเลิกอ่านไปอย่างเสียความรู้สึก ในขณะที่ผู้อ่านกลุ่มที่ชอบอ่านนิยายลึกลับสมัยใหม่ก็ไม่สามารถหานิยายของคุณเจอได้ ถ้าหาผ่านหมวดหมู่ประเภทนิยาย
สำหรับนิยายส่วนมาก มันไม่ยากที่จะจัดประเภทแม้แต่นิดเดียว แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีนวนิยายบางประเภทที่มีองค์ประกอบของแนวเรื่องหลายประเภทปนอยู่ บางทีนิยายของคุณอาจมีทั้งสมัยใหม่และสมัยโบราณปนกัน และยังมีนิยายวิทยาศาสตร์กับนิยายกำลังภายในปนอยู่ แม้กระทั่งปนแฟนตาซีอีกด้วย ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่านิยายของคุณไม่ดี แต่ด้วยเหตุผลดังกล่าว เนื้อเรื่องเหล่านี้มักทำให้นักเขียนเองสับสนว่าแนวเรื่องโดยรวมของมันควรไปอยู่ในประเภทไหนดี?
อย่างแรกสุดเลย สิ่งที่คุณควรพิจารณาคือเนื้อหาขององค์ประกอบเรื่องส่วนไหนที่สำคัญที่สุด นี่เป็นรากฐานของปัญหาที่ต้องแก้ก่อน
แต่อย่างไรก็ตาม หากคุณในฐานะนักเขียนรู้สึกว่าทุกองค์ประกอบมีความสำคัญเท่ากันหมด ถ้าอย่างนั้นคุณคงต้องตัดสินใจเลือกประเภทใดประเภทหนึ่งด้วยตัวคุณเอง มีตัวแปรสองอย่างที่คุณควรพิจารณา อย่างแรกคือหมวดประเภทยอดนิยมจะมีผู้อ่านเยอะกว่า อย่างที่สองคือหมวดประเภทที่นิยมน้อย จะมีนวนิยายอยู่ในหมวดน้อยแต่คู่แข่งก็น้อยลงด้วย
ตัวแปรสองอย่างนี้กำลังบอกว่า คุณไม่สามารถได้ผู้อ่านมาทั้งหมดนั่นเอง สำหรับนักเขียนมือใหม่ คุณสามารถเลือกประเภทนิยายตามที่คุณรู้สึกมั่นใจในศักยภาพนิยายของคุณเอง แต่ถ้าว่ากันตามปกติ มีคำแนะนำว่า เลือกหมวดประเภทที่นิยมน้อยให้นิยายของคุณจะดีกว่า
ด้วยแนวคิดแบบเดียวกันนี้ ใช้กับเรื่องย่อเช่นกัน เมื่อคุณเขียนเรื่องย่อเพื่อแนะนำนิยายของคุณ ขอให้แน่ใจว่าเรื่องย่อตรงกับหมวดประเภทนิยายที่มันควรอยู่ด้วย
...................................................................................