บทที่ 5 การออกแบบสภาพเหตุการณ์และเขียนโครงเรื่อง
บทที่ 5 การออกแบบสภาพเหตุการณ์และเขียนโครงเรื่อง
หลังจากที่คุณเลือกได้แล้วว่าแนวเรื่องประเภทไหนและหัวข้อที่คุณอยากจะเขียน ตอนนี้ก็ถึงเวลาที่คุณในฐานะนักเขียน จะเริ่มออกแบบสภาพเหตุการณ์ของเรื่องและเขียนโครงเรื่องโดยรวมที่วางแผนไว้จากพล็อตเรื่อง อาจมีคำถามว่าทำไมถึงจับเอาสองขั้นตอนนี้มารวมในบทความเดียวกัน นั่นเป็นเพราะสองขั้นตอนนี้มีความสัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้ง ไม่สามารถแยกออกจากกันได้
เมื่อคุณเขียนโครงเรื่องโดยรวม โดยพื้นฐานแล้วก็คือการคิดรายละเอียดของเรื่องราว เติมรายละเอียดที่จำเป็นลงในสภาพเหตุการณ์ในเรื่องที่ดำเนินไปนั่นเอง
เมื่อถึงเวลาที่คุณเขียนเรื่อง แน่นอนว่าสิ่งแรกที่คุณต้องพิจารณาคือเรื่องจะเกิดขึ้นที่ไหน เกิดเมื่อไร เกิดกับใคร และเกิดกับคนแบบไหน เมื่อเรื่องดำเนินไป คุณต้องพิจารณาว่าตัวละครหลักจะพบกับใคร สถานที่และเวลาที่เขาหรือเธอพบกัน พร้อมกับการเลือกว่าใครแข็งแกร่งกว่า ใครอ่อนแอกว่าตัวละครหลัก...
หลังจากที่คุณเขียนโครงเรื่องเสร็จเรียบร้อย องค์ประกอบที่จำเป็นทุกอย่างตั้งแต่โลกที่เป็นฉากหลัง กลุ่มแก๊งต่างๆ ระดับพลัง ความสามารถพิเศษ ทรัพย์สมบัติ และตัวละครที่สำคัญ... สภาพเหตุการณ์ของเรื่องทั้งหมดก็จะเสร็จสมบูรณ์พร้อมไปโดยธรรมชาติในขั้นตอนนี้
ในขั้นตอนกลับกันก็ทำได้ หากคุณออกแบบรายละเอียดของสภาพเหตุการณ์ก่อน คุณก็จะจบลงด้วยการได้โครงเรื่องโดยรวมขึ้นมา และการพัฒนาการของตัวละครหลักที่เติบโตขึ้นไปตามการดำเนินเรื่องเช่นกัน
เป็นที่แน่นอนว่ายังมีความแตกต่างกันบ้างในการเริ่มทำงานกับขั้นตอนใดก่อน อย่างไรก็ตาม นักเขียนมือใหม่เช่นคุณไม่จำเป็นต้องกังวลกับเรื่องพวกนี้ คุณแค่ลงมือเขียนตามความถนัดและเลือกอะไรก็ตามที่คุณชอบ ไม่สำคัญว่าจะออกแบบสภาพเหตุการณ์หรือเขียนโครงเรื่องก่อน คุณสามารถแม้กระทั่งทำมันไปพร้อมๆ กันได้
สำหรับนักเขียนมือใหม่เช่นคุณ ที่สำคัญอย่างยิ่งยวดที่ต้องเข้าใจมีเพียง 5 ข้อเท่านั้น
1. การมีโครงเรื่องโดยรวมทั้งหมด ไม่ได้จำเป็นที่สุดเสมอไป แต่การมีไว้สักชุดก็ดีกว่าไม่มีเลย
ถ้าพูดกันตามทฤษฎีแล้ว แม้ว่าคุณไม่ได้เตรียมโครงเรื่องโดยรวม มันอาจไม่ส่งผลกระทบกับการดำเนินเรื่องของนิยายที่คุณกำลังเขียนแม้แต่นิดเดียว มีนักเขียนบางคนที่เขียนอะไรก็ตามที่เขาคิดขึ้นได้แล้วปล่อยให้กระบวนการเขียนลื่นไหลไปตามธรรมชาติ
แน่นอนว่าที่ยกตัวอย่างมา เป็นการยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในแง่ดีเท่านั้น สำหรับนักเขียนส่วนใหญ่ จะเกิดเหตุการณ์พล็อตในการดำเนินเรื่องเกิดไหลออกไปนอกโครงเรื่องโดยรวม...
โครงเรื่องโดยรวมจะช่วยให้เรื่องของคุณดำเนินอยู่กับร่องกับรอยในช่วงเริ่มต้น แต่หากวันใดเรื่องดำเนินไปถึงช่วงกลางหรือช่วงท้าย ส่วนใหญ่ปัญหาการดำเนินเรื่องจะปรากฏออกมา อย่างเช่นพล็อตเรื่องแตกออกเป็นหลายทางในเวลาเดียวกัน พล็อตเรื่องขัดแย้งในตัวมันเอง หรือนักเขียนเองเกิดอาการสมองตีบตัน...
เมื่อถึงเวลานั้น นักเขียนจะรู้สึกเสียใจที่ไม่เขียนโครงสร้างโดยรวมให้ละเอียดพอ แต่มันสายไปแล้ว ว่ากันตามจริง โครงเรื่องโดยรวมนั้นมีประโยชน์มากกว่าที่คุณคิด
เนื่องจากนวนิยายออนไลน์นั้น ปกติจะยาวกว่านิยายธรรมดาที่เป็นหนังสือมาก และใช้เวลาเขียนนานกว่าเช่นกัน โดยทั่วไป นักเขียนใช้เวลาโดยเฉลี่ยหลายเดือนหรือนานกว่า เพื่อเขียนโครงเรื่องโดยรวมจนเสร็จ เมื่อถึงเวลาที่พวกเขาเสร็จการเขียนโครงเรื่องโดยรวมแล้ว นักเขียนส่วนมากจะได้ไอเดียใหม่เกิดขึ้นมา และเห็นแนวทางที่เขาต้องการจะเขียนอะไรลงไป หลังจากพวกเขาได้ผสมผสานความคิดใหม่ลงไปกับโครงเรื่องเดิม นั่นจะทำให้เขามีแรงบันดาลใจ 2 แหล่ง หรือพูดง่ายๆ ว่าเท่ากับมีสองคนช่วยกันคิด ที่ดีกว่านั้นคือ สองคนนี้รู้จักกันเป็นอย่างดี ว่าอีกคนคิดอย่างไร
จะเห็นว่าสิ่งนี้เป็นประโยชน์อย่างมากในการปรับปรุงคุณภาพนิยายของคุณยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ระหว่างที่เขียนโครงเรื่องโดยรวม นักเขียนสามารถค้นพบประเด็นและปัญหาสภาพเหตุการณ์ที่คุณออกแบบไว้มากมาย ทำให้สามารถแก้ไขมันได้ก่อนที่จะลงมือเขียนต้นฉบับจริง
ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างในกรณีร้ายแรง หากคุณพบกับความยุ่งยากในการเขียนโครงเรื่องโดยรวมและไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรกับพล็อตที่วางไว้ นี่เป็นตัวชี้บอกอย่างหนึ่งว่ามันมีปัญหาใหญ่กับพล็อตของคุณ คุณควรทำการแก้ไขใหญ่หรือตัดพล็อตเรื่องส่วนที่เป็นปัญหาออกไปทั้งหมด
ดังนั้นนักเขียนมือใหม่ไม่ควรมองข้ามการใช้ประโยชน์จากโครงเรื่องโดยรวม ไม่สำคัญว่าคุณมีโครงเรื่องดีหรือไม่ดี แบบง่ายๆ หรือแบบมีรายละเอียด ตราบใดที่คุณมีไว้ นั่นก็ดีกว่าแล้ว
สิ่งหนึ่งที่ต้องตั้งข้อสังเกตไว้คือ โครงเรื่องที่ได้บันทึกลงเป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้น ถือว่าเป็นโครงเรื่องที่แท้จริง
แม้ว่านักเขียนจะมีโครงเรื่องรายละเอียดดี และคุณสามารถจำพล็อตพร้อมรายละเอียดทุกอย่างได้อย่างที่ถ้วนอยู่ในหัว แต่เมื่อมันไม่ได้เอาออกมาเขียนลงกระดาษ มันไม่สามารถนับเป็นโครงเรื่องตัวจริงได้ นั่นเป็นเพราะเมื่อคุณลงมือเขียนต้นฉบับจริง คุณจะพบว่าสิ่งที่คุณเขียนลงไป จะแตกต่างจากสิ่งที่คุณเห็นภาพไว้ในหัวเสมอ
2. คุณต้องเขียนโครงเรื่องให้เสร็จ แต่มันไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์พร้อม
การคิดโครงเรื่อง เปรียบเสมือนการนำพล็อตนิยายของคุณมาขยาย คุณจำเป็นต้องพิจารณาทั้งการเริ่มเรื่องและการจบเรื่อง อีกทั้งคุณต้องคิดทุกอย่างที่ตัวละครหลักต้องเผชิญประสบการณ์ตั้งแต่ต้นไปจนจบเรื่อง
ถ้าหากคุณเขียนโครงเรื่องไม่จบ แต่ได้ครึ่งๆ กลางๆ หลังจากคุณเขียนต้นฉบับช่วงเริ่มต้นเสร็จแล้ว คุณจะไม่สามารถทำนายการดำเนินเรื่องที่จะตามมาได้ ซึ่งจะสร้างความลำบากในการเขียนต้นฉบับต่อไป สถานการณ์นี้ก็เหมือนกับการไม่มีโครงเรื่องเตรียมไว้เลยนั่นเอง
ข้อดีอีกอย่างคือ เราไม่จำเป็นต้องเขียนโครงเรื่องให้ละเอียดยิบตั้งแต่เริ่มต้น แค่เขียนเน้นเฉพาะเหตุการณ์ที่สำคัญในพล็อตทั้งเรื่อง เหตุผลง่ายๆ ที่เราต้องทำเช่นนี้เพราะว่า พวกเรานักเขียน ไม่มีวันรู้ว่านวนิยายของเราจะมีความยาวขนาดไหนไปจนกว่าจะจบเรื่อง
การเขียนเรื่องเรื่องหนึ่งเพื่อให้มันกลายเป็นผลิตภัณฑ์ทางการค้า จำเป็นต้องมีความยาวมากพอตั้งแต่การวางแผนการเขียน ยิ่งเรื่องสามารถเขียนให้ยาวมากได้ยิ่งดี แต่สุดท้ายก็ต้องยอมรับความจริงว่า เรื่องมันจะมีความยาวทั้งหมดกี่คำ ก็ขึ้นอยู่ว่ามันจะได้รับความนิยมและไต่อันดับได้ดีแค่ไหน
หากเรื่องของคุณได้รับความนิยมและทำตลาดได้ดีมาก ถ้าอย่างนั้นแล้วเราจะเขียนให้ยาวที่สุดเท่าที่จะยาวได้ แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าเรื่องของคุณไม่เป็นที่นิยมจากผู้อ่านอย่างเห็นได้ชัด คุณควรพิจารณาเขียนให้จบลงในเวลาที่เหมาะสม โดยอิงกับพล็อตที่ใช้อยู่ และปรับเรื่องให้จบได้อย่างลงตัวเหมาะสม เพื่อคุณจะได้เอาเวลาไปใช้คิดเรื่องใหม่แทนต่อไป นั่นจะเป็นการตัดสินใจที่ดีกว่า ถ้าคุณตั้งใจที่จะเป็นนักเขียนนิยายมืออาชีพ
แน่นอนว่าเมื่อคุณยังอยู่ในขั้นตอนการเขียนโครงเรื่อง เป็นไปไม่ได้เลยที่คุณในฐานะนักเขียนมือใหม่จะรู้ว่า ผู้อ่านจะมีปฏิกิริยาอย่างไรกับนิยายของคุณ และด้วยเหตุผลนี้ คุณจึงจำเป็นต้องมีแผนการเขียนที่ยืดหยุ่น หมายความว่าคุณควรเขียนโครงเรื่องมีรายละเอียดในช่วงต้น และเท่าที่จำเป็นในช่วงใกล้จบ สำหรับเรื่องช่วงเริ่มต้น คุณควรเขียนโครงเรื่องอย่างละเอียดเท่าที่จะเป็นไปได้ ขณะที่ช่วงกลางเรื่องและหลังจากนั้นจนถึงช่วงจบเรื่อง คุณเพียงเขียนแค่ไอเดียคร่าวๆ เท่านั้น ทั้งหมดที่คุณจำเป็นต้องพิจารณาคือพัฒนาการของพล็อตเรื่องโดยรวม เพื่อที่คุณจะได้รู้ว่าเรื่องจะดำเนินไปทิศทางไหน
ตัวอย่างเช่น บางทีคุณได้วางแผนไว้ว่าช่วงต้นเรื่องของนิยายของคุณจะมี 80,000 คำ และคุณได้เขียนโครงเรื่องเตรียมไว้แล้ว 4,000 คำ ในกรณีนี้ เมื่อเขียนเนื้อเรื่องช่วงกลางต่อไปอีก 80,000 คำ คุณอาจต้องการโครงเรื่องเพียงแค่ 3,000 คำ และสำหรับเนื้อเรื่องต้นฉบับที่จะเขียนอีกประมาณ 240,000 คำ อาจมีโครงเรื่องน้อยกว่า 1,000 คำ
ในขณะที่คุณเขียนเรื่องต่อเนื่องไป แน่นอนว่าคุณควรอัปเดตโครงเรื่องของคุณด้วย คุณควรเขียนโครงเรื่องสำหรับ 80,000 คำชุดที่สองให้เสร็จเรียบร้อย ก่อนที่คุณจะเสร็จการเขียนเนื้อเรื่อง 80,000 คำชุดแรก
3. ต้องมีการอัปเดตสภาพเหตุการณ์ของเรื่องเป็นประจำ
เหมือนกับการเขียนโครงเรื่อง ก่อนอื่นคุณต้องออกแบบสภาพเหตุการณ์พื้นฐานขึ้นมาก่อน ก่อนจะเริ่มลงมือเขียนต้นฉบับ ซึ่งรวมถึงโลกที่เป็นฉากหลังของเรื่อง นิสัยของตัวละครหลัก ระดับพลัง และอื่นๆ
อีกทั้งสภาพเหตุการณ์เฉพาะ เช่นมีวัตถุทรงพลังบางอย่างปรากฏขึ้นในเรื่อง สามารถเพิ่มเข้าไปขณะที่คุณกำลังเขียนต้นฉบับอยู่ได้
คุณไม่จำเป็นต้องออกแบบสภาพเหตุการณ์ทั้งหมดตั้งแต่ต้นเรื่อง เป็นเรื่องที่ยอมรับกันทั่วไปว่าคุณสามารถออกแบบสภาพเหตุการณ์เพิ่มเติมระหว่างการเขียนเนื้อเรื่องได้ ซึ่งแตกต่างจากการเขียนโครงเรื่องโดยรวม
อย่างไรก็ตาม นักเขียนมือใหม่ต้องจดจำไว้ว่า ถึงแม้ว่าจะสามารถออกแบบสภาพเหตุการณ์ใหม่เพิ่มเติมระหว่างเขียนเรื่องได้ คุณควรเขียนมันลงในชุดข้อมูลประกอบการเขียนด้วย วิธีนี้จะช่วยให้คุณเช็กข้อมูลสภาพเหตุการณ์ทีหลังได้ ไม่อย่างนั้น นิยายที่มีความยาวพุ่งขึ้นสูงเกินหนึ่งล้านคำ และใช้เวลาถึงหนึ่งปีกว่าจะจบหรือนานกว่านั้น อาจทำให้นักเขียนลืมข้อมูลหลายอย่างในอดีตที่ใช้ในการเขียนเรื่องในช่วงแรกได้ ซึ่งเป็นเรื่องปกติทีเดียวที่เกิดความผิดพลาด เมื่อเขียนเกี่ยวกับเรื่องไอเทมที่ตัวละครหลักครอบครอง และจะมีนักอ่านตาแหลมบางคนที่สามารถจับความผิดพลาดของนักเขียนได้เป็นครั้งคราว
หากคุณได้มีการบันทึกรายละเอียดของสภาพเหตุการณ์ไว้ นอกจากจะลดความผิดพลาดของความต่อเนื่องที่เรื่องราวแล้ว คุณยังสามารถเอาขึ้นมาดูได้บ่อยครั้ง เมื่อเกิดภาวะความคิดตีบตัน คุณอาจได้แรงบันดาลใจจากตัวละครรองบางตัวที่คุณได้ลืมสนิทไปแล้ว หรือไอเทมที่เคยเอ่ยถึงมาก่อน แต่หลังจากนั้นก็ไม่ได้ใช้อีกเลย
4. ออกแบบสภาพเหตุการณ์ที่ซ้ำซากดีกว่า
สิ่งนี้หมายความว่า ไม่ว่าจะเป็นระบบอะไร และชื่อต่างๆ ที่คุณใช้ในสภาพเหตุการณ์ที่คุณออกแบบขึ้น ตัวอย่างเช่น ชื่อและระดับที่คุณใช้ในสมาคมศิลปะการต่อสู้
นักเขียนมือใหม่หลายคนมักเข้าใจผิดว่า การตั้งชื่อต่างๆ โดยใช้ชื่อซ้ำกับเรื่องอื่นๆ ในสภาพเหตุการณ์ที่รู้จักกันดีในนวนิยายประเภทเดียวกันที่ใช้ซ้ำกันมาหลายครั้งแล้ว ทำให้นิยายของพวกเขาดูซ้ำซาก ดังนั้นพวกเขาจึงพยายามทำให้เป็นเอกลักษณ์ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ นักเขียนเหล่านี้จะพยายามใช้จินตนาการสุดความสามารถที่จะคิดสารพัดชื่อแฟนซีต่างๆ มากมาย ในความคิดของพวกเขาคิดว่า มันจะทำให้นวนิยายของเขาโดดเด่นขึ้นมากกว่าเรื่องอื่น นักเขียนมือใหม่เหล่านี้ไม่ได้ตระหนักว่านี่คือวิธีที่แย่มากในการเขียนนิยายเรื่องหนึ่ง ในสถานการณ์ส่วนใหญ่วิธีนี้จะให้ผลตรงข้ามกับที่ตั้งใจไว้
นวนิยายใหม่เรื่องหนึ่งที่คุณเขียน ควรเป็นการตีความใหม่ หรือเรื่องเกี่ยวกับแนวเรื่องเฉพาะบางประเภท การที่จะทำให้นิยายของคุณโดดเด่นขึ้นมาได้นั้น ขึ้นอยู่กับความขัดแย้งที่คุณสร้างขึ้นในเรื่อง และตัวละครหลักแก้ปัญหาเหล่านั้นได้อย่างไร สำหรับการคิดคำแฟนซีแปลกใหม่ขึ้นมาเพื่อตั้งชื่อสิ่งต่างๆ ในนิยายของคุณ แม้ต่อให้มันฟังดูเจ๋งแค่ไหน หรือปรับเปลี่ยนคำสแลงต่างๆ มันเกือบจะไม่มีผลอะไรดีต่อคุณเลย
คุณจะเข้าใจเหตุผลสำหรับเรื่องนี้ได้ดี เมื่ออ่านถึงบทความเกี่ยวกับ การเขียนเรื่องในช่วงเริ่มต้นให้นิยายของคุณ คำแฟนซีเหล่านี้จะสร้างภาระให้ผู้อ่านต้องทำความเข้าใจกับข้อมูลจำนวนมากโดยไม่จำเป็น
โดยทั่วไปยังคงมีคำชื่อต่างๆ ที่มีอยู่แล้วมากมายให้เลือกใช้ ซึ่งจะทำให้ผู้อ่านเข้าใจได้ง่ายกว่ามาก แต่แทนที่จะเป็นอย่างนั้น ผู้อ่านของคุณตอนนี้ต้องใช้เวลาและความพยายามในการอ่านคำอธิบายต่างๆ ของคุณ เห็นได้ชัดว่าผู้อ่านไม่ได้มาที่นี่เพื่ออ่านคู่มือทางเทคนิคหรือข้อมูลอันชวนหดหู่ ยิ่งนิยายของคุณมีคำอธิบายมากเท่าไหร่ แรงดึงดูดและความลื่นไหลในการอ่านก็ลดน้อยลงมากเท่านั้น แต่ถ้าคุณไม่เพิ่มคำอธิบายของพวกคำประดิษฐ์ใหม่เข้าไปเลย ผู้อ่านจะไม่เข้าใจแม้กระทั่งว่ามันเกิดอะไรขึ้นในเรื่อง
นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมนักเขียนมือใหม่ควรหลีกเลี่ยง “ความคิดสร้างสรรค์ที่เปล่าประโยชน์” ให้มากเท่าที่จะมากได้ คุณควรใช้คำเรียกชื่อต่างๆ ในชุดสภาพเหตุการณ์ของคุณที่ผู้อ่านคุ้นเคยแทนจะดีกว่า
5. การดำเนินเรื่องควรถูกผลักไปข้างหน้าด้วยความขัดแย้ง
นักเขียนมือใหม่จำนวนมากมักจะเกิดปัญหาสมองตีบตันขณะร่างแผนการเขียนโครงเรื่องหรือติดปัญหาอื่นๆ ในการเขียนนิยายของเขา
บางครั้ง นี่เป็นเพราะนักเขียนทำให้การดำเนินเรื่องยุ่งเหยิงเกินไป แต่ส่วนมากเป็นเพราะนักเขียนรู้สึกว่ามันไม่มีอะไรจะเขียนลงไป หรือไม่รู้ว่าจะทำให้ตัวละครหลักทำอะไรต่อไป นักเขียนเองไม่รู้ว่าจะดำเนินเรื่องของตนเองต่อไปได้อย่างไร
ในการที่จะจัดการกับภาวะสมองตีบตัน หรืออีกนัยหนึ่ง ทำอย่างไรถึงจะผลักให้เรื่องเดินไปข้างหน้าด้วยตัวมันเอง ที่จริงคำตอบมันง่ายอย่างเหลือเชื่อ
คุณสามารถตอบคำถามนี้ได้เพียงแค่ใช้คำนี้ “ความขัดแย้ง!”
แท้ที่จริง องค์ประกอบที่สำคัญยิ่งยวดของนวนิยายออนไลน์สามารถสรุปเข้าไปในคำนี้ – ความขัดแย้ง ตัวอย่างเช่น การเพิ่มระดับพลังเป็นความต้องการตัวละครหลักที่ต้องการความแข็งแกร่งมากขึ้น ซึ่งนั่นก็คือความขัดแย้งระหว่างตัวละครหลักกับความอ่อนแอของตนเองขณะนั้น
และเมื่อมีความขัดแย้ง คุณต้องแก้ปัญหามัน ดังนั้น ตัวละครหลักต้องฝึกฝนวิชาอย่างหนักเพื่อให้กลายเป็นคนแข็งแกร่งขึ้น ซึ่งหมายถึงว่าเขาต้องเดินทางไปรอบโลกเพื่อค้นหาวิธีการฝึกฝนที่เหมาะกับเขาที่สุด
และความขัดแย้งทั้งหมดจะผลักดันให้เรื่องของคุณเดินไปข้างหน้า อีกทั้งยังสร้างจุดไคลแม็กซ์หลายแห่งในการดำเนินเรื่องเพื่อผู้อ่านของคุณ มันสามารถพูดได้ว่า การออกแบบความขัดแย้งเป็นฐานรากของการเขียนนิยายใดๆ ก็ตาม ไม่ใช่แค่นวนิยายออนไลน์เท่านั้น
สำหรับการวิเคราะห์เกี่ยวกับการออกแบบความขัดแย้งในเรื่องของคุณ สามารถไปอ่านได้ในบทความเพื่อนักเขียนฝีมือระดับกลางในหัวข้อนี้ สำหรับนักเขียนมือใหม่เช่นคุณ ควรเข้าใจแนวคิดนี้ง่ายๆ ไปก่อน และรู้ว่าคุณควรใส่ความขัดแย้งใหม่ลงไปทุกครั้งเมื่อเกิดความลำบากในการดำเนินเรื่องขึ้น พยายามหาความขัดแย้งที่เป็นไปได้ในพล็อต ตัวละคร และสิ่งของที่คุณได้ใช้ในเรื่องแล้ว หรือบังคับยัดเยียดองค์ประกอบใหม่ใดๆ ลงไปในเรื่องที่จะก่อให้เกิดความขัดแย้งให้ได้
กล่าวได้ว่า วิธีนี้เป็นหนึ่งในเทคนิคขั้นพื้นฐานมากที่สุดในการวางแผนการดำเนินเรื่องของคุณเลยทีเดียว
...................................................................................