ตอนที่แล้วบทที่ 3 เขียนนิยายที่มีการเติมเต็มให้ชีวิตอย่างไร…ให้ผู้อ่านสนใจ
ทั้งหมดรายชื่อตอน
ตอนถัดไปบทที่ 5 การออกแบบสภาพเหตุการณ์และเขียนโครงเรื่อง

บทที่ 4 ก้าวแรกสู่การเขียนนิยายออนไลน์: เลือกประเภทที่ต้องการ


บทที่ 4 ก้าวแรกสู่การเขียนนิยายออนไลน์: เลือกประเภทที่ต้องการ

โดยธรรมชาติแล้ว ขั้นแรกของการเริ่มเขียนนิยาย คือการตัดสินใจก่อนว่าจะเขียนเรื่องเกี่ยวกับอะไร นั่นคือเลือกประเภทของนิยายที่จะเขียนนั่นเอง

ไม่ว่าจะเป็นงานเขียนใดๆ ของคุณ มันคือสะพานเชื่อมที่นักเขียนใช้เพื่อสื่อสารกับกลุ่มผู้อ่านของเขา เมื่อเป็นเช่นนั้น การเลือกประเภทของนิยายก็หมายความว่า เราควรพิจารณาตัวแปรทั้งการตลาดและความสร้างสรรค์ เริ่มตั้งแต่พล็อตเรื่องไปจนถึงเวลาลงมือเขียนจริง มีคำถามสามข้อหลักที่ควรถามตนเองก่อนดังนี้

1. แนวเรื่องประเภทไหนที่ฉันควรจะเลือก?

2. เรื่องประเภทนี้เหมาะกับฉันไหม?

3. ผู้อ่านจะสนุกกับการอ่านเรื่องของฉันไหม?

สามคำถามนี้เรียงความสำคัญก่อนหลังตามลำดับ และเมื่อเริ่มสร้างโครงเรื่องแล้ว สามคำถามนี้จะกลายเป็นตัวแปรสำคัญที่สนับสนุนและส่งผลกระทบต่อกันและกัน คุณสามารถที่จะคิดถึงมันทั้งสามไปพร้อมๆ กัน และใช้คำตอบของสองคำถามหลังเพื่อเปลี่ยนคำตอบของคำถามแรกได้ถ้าจำเป็น

1. แนวเรื่องประเภทไหนที่ฉันควรจะเลือก?

การเลือกแนวเรื่องที่จะเขียนไม่ใช่เรื่องง่ายเพียงแค่เลือกแนวเรื่องจากรายการประเภทนิยายที่มีอยู่ ส่วนมากมักจะเป็นการเริ่มกระบวนการสร้างเรื่องใหม่ทั้งหมดทุกครั้ง

หากคุณในฐานะนักเขียนเองไม่รู้ว่าจะเลือกแนวไหนดี รู้แค่เพียงคุณอยากจะเขียนนิยายออนไลน์ ถ้าเป็นอย่างนั้น คุณลองพยายามคิดในมุมมองตามวิธีตัวอย่างนี้

| เริ่มจากประเภทที่เฉพาะเจาะจง

หมายความว่า สิ่งแรกเลยที่คุณต้องทำคือยืนยันว่าแนวเรื่องประเภทไหนที่คุณอยากเขียน แล้วมันตกไปอยู่ในหมวดนิยายประเภทใด? และหมวดย่อยไหน? เรื่องราวเกิดที่ไหน และปีอะไร? หลังจากนี้คุณถึงค่อยคิดถึงประเด็นอื่นที่เกี่ยวข้องในเนื้อเรื่องต่อไป

ยกตัวอย่างเช่น คุณตัดสินใจแล้วที่จะเขียนนิยายเกี่ยวกับวีรบุรุษคงกระพัน โดยเรื่องราวเกิดขึ้นในเมืองสมัยใหม่ ซึ่งมันก็จะตกไปอยู่ในหมวดย่อยนิยายประเภทการฝึกวิชาการต่อสู้สมัยใหม่ หลังจากนั้นคุณควรจะเริ่มคิดถึงว่าตัวละครหลักได้เรียนวิชาของเขามาจากไหนในเมืองสมัยใหม่ เขาควรมีความสามารถอะไร และระบบพลังการฝึกวิชาของคุณทำงานอย่างไรในเรื่อง...

นี่เป็นวิธีค่อนข้างเรียบๆ และไม่ยืดหยุ่นในการเลือกประเภทนิยายของคุณ แต่ข้อได้เปรียบคือหลังจากคุณเลือกประเภทนิยายได้แล้ว คุณสามารถใช้โครงสร้างของเรื่องประเภทนี้แล้วเติมเรื่องราวที่คุณคิดไว้ลงไป ซึ่งวิธีนี้ค่อนข้างง่ายสำหรับมือใหม่ เพราะมันช่วยลดความผิดพลาดในการเขียนได้เป็นอย่างดี

| ใช้นิยายบางเรื่องเป็นตัวอย่าง

วิธีนี้คือใช้นวนิยายที่ตีพิมพ์อยู่แล้วเป็นพิมพ์เขียวให้กับนิยายของคุณ โดยยืมองค์ประกอบบางอย่างมาใช้

มีองค์ประกอบมากมายจากนิยายเรื่องอื่นที่คุณสามารถยืมมาเป็นแหล่งอ้างอิงได้ ตั้งแต่การสร้างโครงเรื่องจนถึงวิธีการบรรยายตัวละครต่างๆ แม้แต่สไตล์ของนักเขียนและอื่นๆ สามารถเอามาเป็นตัวอ้างอิงได้ แน่นอนว่าคุณใช้องค์ประกอบเหล่านั้นเพื่ออ้างอิงเท่านั้น ไม่ใช่ก๊อบปี้หรือขโมยความคิดของต้นฉบับมา

สิ่งที่จำเป็นต้องกล่าวถึงคือ การอ้างอิงแบบนี้มีรากฐานแตกต่างจากการเลียนแบบที่กล่าวถึงในบทความแนะนำระดับเริ่มต้นก่อนหน้านี้

ณ ที่ระดับเริ่มต้น สิ่งที่สำคัญมากกว่าคือการพัฒนาความสามารถในการเขียนเรื่อง มันไม่สำคัญมากนักว่านิยายของคุณจะดีหรือไม่ หรือแม้กระทั่งฉบับที่ไม่สามารถตีพิมพ์เผยแพร่ได้อย่างพวกแฟนฟิกชั่น แต่ถ้าหากความสามารถของคุณพัฒนาขึ้นมาเป็นนักเขียนระดับเริ่มต้นแล้ว และคุณมีความต้องการจะเขียนนิยายเพื่อเป็นมืออาชีพ คุณต้องระวังไว้เสมอว่าคุณสามารถยืมไอเดียมาจากเรื่องของคนอื่นได้แค่ไหน ไม่ใช่แค่เพียงต้องระวังจะถูกกล่าวหาว่าขโมยความคิด คุณยังต้องมั่นใจว่า คุณมีเรื่องที่มีลักษณะพิเศษไม่เหมือนใคร และสามารถโดดเด่นขึ้นมาด้วยตัวมันเอง

เราต้องจำไว้ให้ขึ้นใจว่า สาเหตุที่คุณยืมไอเดียของคนอื่นมาอ้างอิงตั้งแต่แรก ไม่ใช่ช่วยให้คุณลดกระบวนการเขียนเรื่องลงทั้งหมด แต่เพื่อช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้คุณสร้างงานให้ดียิ่งขึ้นไปอีก

สำหรับนวนิยายที่คุณเอามาอ้างอิงนั้น มีสองแบบที่คุณสามารถเลือกมาใช้ได้

แบบแรกคือเลือกนวนิยายที่มีความนิยมสูงในขณะนั้น การอ้างอิงแบบนี้ จะได้ยินคำเรียกกันบ่อยว่า “ตามกระแสนิยม”

นักเขียนหลายคนดูหมิ่นการเขียนตามกระแสนิยม และเชื่อว่าเป็นการละเลยความคิดสร้างสรรค์ของตนเอง หรือบางทีก็แสดงถึงว่าไม่ใช้ฝีมือในการเขียนเสียเลย แต่ที่จริงแล้ว การเขียนตามกระแสนิยม บ่อยครั้งสามารถเป็นทางลัดที่ได้ผลดีทีเดียว ไม่ใช่เพียงแค่นั้น บ่อยครั้งเลยที่การเขียนตามกระแสนิยมก่อให้เกิดการพัฒนาแนวเรื่องใหม่เพิ่มขึ้นมาจากแนวเรื่องหลัก และช่วยพัฒนาขยายขอบเขตของแนวเรื่องหลักนั้นให้กว้างออกไปด้วย

และนี่ยังเป็นเหตุผลว่าทำไม นวนิยายที่ดีเยี่ยมและได้รับความนิยมในอันดับต้นๆ บางเรื่อง ไม่ได้เขียนอยู่ในแนวเรื่องหลักมาตั้งแต่ต้น

ถ้าพูดกันอย่างตรงไปตรงมา การประสบความสำเร็จจากการเขียนตามกระแสนิยม ไม่ใช่ง่ายดายอย่างที่หลายคนคิด นักเขียนที่เขียนเรื่องตามกระแสนิยมต้องมีวิสัยทัศน์และการตัดสินสิ่งต่างๆ ที่แหลมคม คุณต้องโดดเด่นออกมาจากกลุ่มนักเขียนตามกระแสนิยมอื่นๆ อีกทั้งยังมีความสามารถในการสร้างความใหม่จากเรื่องเก่า และดัดแปลงจนนิยายของคุณกลายเป็นนิยายต้นแบบแท้ๆ ของแนวเรื่องประเภทนั้น

ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น วิธีเขียนเรื่องแนวนี้ยังเป็นวิธีที่ยอดเยี่ยมสำหรับนักเขียนมือใหม่ที่จะใช้เพื่อเขียนเรื่องของตนเอง แม้ว่าคุณจะเลือกประเภทที่มีนิยายแนวนี้ถูกเขียนออกมามากมายแล้วก็ตาม แต่มันยังก็ดีกว่าการสุ่มเลือกเขียนในประเภทใดๆ อย่างคนตาบอด

ยังไม่รวมถึงว่า นิยายประเภทไหนที่มีนักเขียนตามกระแสนิยมจำนวนมากและมีหนังสือล้นตลาด นั่นเป็นตัวพิสูจน์ว่านิยายแนวนี้มีระดับ และมีสิ่งที่ผู้อ่านชอบมาก

แบบที่สองของนิยายที่คุณอาจเลือกมาเป็นตัวอย่างอ้างอิงได้ คือเรื่องที่คุณในฐานะนักเขียน มีความสุขกับการอ่านมันจริงๆ แต่ถ้าเรื่องที่เลือกมานี้ไม่ใช่นวนิยายยอดนิยม ถึงคุณจะใช้มันเป็นแหล่งอ้างอิงได้ แต่มันก็ไม่ใช่สำหรับการเขียนนิยายตามกระแสนิยมอีกต่อไป

สำหรับนักเขียนที่ไม่รู้ว่าจะเลือกแนวเรื่องประเภทไหนมาเขียน นี่คือวิธีที่คุณควรลองเหมือนกัน พยายามนึกถึงว่าคุณเคยชอบอ่านนิยายเรื่องอะไรมากในอดีต

แม้ว่าถ้านิยายที่คุณชอบอ่านจริงๆ ไม่ใช่ประเภทที่นิยมในปัจจุบัน และอาจไม่เป็นที่นิยมตอนมันเพิ่งออกมาด้วย แต่ความจริงที่ว่าคุณมีความสุขในการอ่านมัน นั่นก็แสดงว่ามันยังมีตลาดนักอ่านอยู่ ไม่เพียงเท่านั้น มีความเป็นไปได้สูงว่า นิยายประเภทนี้คือประเภทที่เหมาะกับคุณในการเอาไปเขียนอย่างมาก

เมื่อคุณยืมไอเดียมาจากนิยายเรื่องอื่นนั้น แน่นอนว่าคุณต้องใส่ใจว่าคุณจะยืมมันมามากแค่ไหน อย่างมากสุดคือยืมไอเดียมาจากเรื่องประเภทนั้น แล้วคุณควรสร้างเค้าโครงเรื่องใหม่ทั้งหมดด้วยสไตล์ของคุณเองจะเป็นการดีมาก

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ดูเหมือนจะค่อนข้างยากสำหรับนักเขียนมือใหม่ ดังนั้นจึงไม่แนะนำต่อนักเขียนที่ไม่ได้ตั้งใจจะเป็นมืออาชีพสำหรับวิธีนี้

| เริ่มด้วยความได้เปรียบ

วิธีการนี้ เริ่มต้นด้วยการใส่คุณสมบัติความได้เปรียบเฉพาะบางอย่างให้ตัวละครหลักของคุณ หลังจากนั้นก็ใช้ความพิเศษของตัวละครนั้นเป็นจุดเริ่มต้นในการคิดเรื่องราวทั้งหมดต่อไป คิดถึงว่าความได้เปรียบนั้นสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในสถานการณ์ใดได้บ้าง และความได้เปรียบนั้นควรใส่เรื่องราวเบื้องหลังความเป็นมาให้มันอย่างไร และตัวละครหลักแบบไหนที่เหมาะกับพลังความได้เปรียบชนิดนั้น...

ตัวอย่างเช่น สมมติว่าความได้เปรียบที่คุณใส่ให้ตัวละครหลักนั้นคือ “ความสามารถมองเห็นได้ไกลว่าคนธรรมดา” ตัวละครหลักของคุณมีการมองเห็นที่ยอดเยี่ยมมาก อาจจะเป็นสิบเท่าหรือร้อยเท่ามากกว่าคนธรรมดาทั่วไป

ในกรณีนี้ เราสามารถสรุปไปโดยธรรมชาติว่า ความได้เปรียบนี้จะน้อยลงอย่างมากในยุคที่กล้องส่องทางไกลได้ถูกประดิษฐ์ขึ้น ดังนั้น แน่นอนว่าเรื่องของคุณจะต้องเหมาะกับการเกิดในสมัยโบราณมากกว่า คุณสามารถเขียนนิยายประวัติศาสตร์พร้อมกับความได้เปรียบชนิดนี้ได้เป็นอย่างดี ทำให้ตัวละครหลักของคุณเป็นผู้บัญชาการคนสำคัญ หรืออาจเป็นนายพลของกองทัพ...

สำหรับนักเขียนที่ไม่ถนัดในการเขียนนิยายประวัติศาสตร์หรือเกี่ยวกับกองทัพ คุณอาจใช้ความสามารถของความได้เปรียบนี้กับนิยายประเภทวิชาการต่อสู้หรือแฟนตาซี เพราะไม่ว่าจะอย่างไร นวนิยายเหล่านี้ปกติเรื่องราวยังเกิดขึ้นในยุคโบราณที่เทคโนโลยีต่างๆ ยังมีจำกัดอยู่มาก

ตัวละครหลักสามารถใช้ดวงตาวิเศษของเขาเพื่อที่จะขโมยวิชาหรือเรียนรู้สิ่งต่างๆ ด้วยวิธีการแอบดูสุดยอดปรมาจารย์กังฟูที่กำลังฝึกวิชาขั้นสุดยอดหรือกำลังฝึกสอนลูกศิษย์ของเขาอยู่ ด้วยการสร้างเรื่องแบบนี้ คุณจะสามารถเพิ่มเติมเรื่องราวอย่างเช่น ตัวละครหลักของคุณต้องมีสถานะทางสังคมต่ำ อาจจะเป็นคนยากจน เพื่อที่จะได้มีคำอธิบายว่าทำไมเขาต้องทำเช่นนั้นเพื่อที่จะได้มีโอกาสเรียนวิชากังฟูให้เก่งกล้า

แน่นอนว่ามันไม่ง่ายเสมอไปในการตั้งข้อสรุปอย่างนี้ บางครั้งเราจะพบว่าหลังจากการตั้งข้อสรุปบางประเภท อาจนำไปสู่การขัดแย้งกันเองภายในการดำเนินเรื่องของคุณ อาจจะเป็นสภาพเหตุการณ์ทั้งสองไม่สามารถเขียนให้มันไปในทิศทางเดียวกันได้ หรือจบลงด้วยการที่เรื่องดำเนินไปในทิศทางที่คุณไม่ได้ต้องการเขียนให้เป็นแบบนั้น

เพื่อที่จะยกตัวอย่างเรื่องคุณสมบัติมองได้ไกลเป็นพิเศษของตัวละครหลักต่อไป หลังจากคุณได้ข้อสรุปแล้วว่า ตัวละครหลักที่มีความได้เปรียบลักษณะนี้เหมาะที่จะอยู่ในเรื่องยุคประวัติศาสตร์ วิชาการต่อสู้ แฟนตาซี หรือในสภาพเหตุการณ์ในสมัยโบราณอื่นๆ แต่ที่จริงคุณต้องการจะเขียนนิยายสมัยใหม่เท่านั้น ถ้าเป็นกรณีนี้ คุณได้เลือกคุณสมบัติความได้เปรียบไม่เหมาะกับแนวเรื่องที่คุณวางแผนไว้ เป็นไปได้ที่คุณควรจะไม่เลือกใช้คุณสมบัติความได้เปรียบนี้

บางที ด้วยพื้นฐานฝีมือที่คุณมีอยู่ มันอาจสร้างความยุ่งยากในการระดมความคิดเรื่องการเลือกคุณสมบัติพลังความได้เปรียบให้ตัวละครของคุณ แต่มันก็ไม่ได้ยากถึงขนาดทำไม่ได้ ไม่ว่าจะอย่างไร นักเขียนมือใหม่สามารถลองทำตามวิธีนี้ได้

| เริ่มด้วยตัวละครหลัก

เริ่มด้วยการสร้างสภาพเหตุการณ์ของตัวละคร หรือถ้ากล่าวให้ชัดเจนยิ่งขึ้น สภาพเหตุการณ์ของตัวละครหลักนั่นเอง ซึ่งมันก็คล้ายกับการเริ่มด้วยคุณสมบัติความได้เปรียบในหัวข้อก่อนหน้า

โดยทั่วไป เมื่อเริ่มจากสภาพเหตุการณ์ของตัวละครหลัก โดยเฉพาะบุคลิกภาพ คุณต้องหาบางสิ่งที่พิเศษ บางทีอาจเป็นสิ่งที่ดูเหมือนไร้สาระพอสมควร ตัวอย่างเช่น บางทีคุณอาจสร้างให้ตัวละครหลักเป็นคนที่กลัวความตายอย่างมาก หลังจากนั้น คุณลองจินตนาการว่า ตัวละครหลักจะมีพฤติกรรมอย่างไรในบางสถานการณ์ กับความกลัวตายอย่างมากของเขา และตัวละครอื่นๆ จะมีปฏิกิริยาอย่างไร

บางทีคุณสามารถเขียนแบบนี้ในสภาพเหตุการณ์สมัยใหม่ เช่นเขาจะออกไปข้างนอกพร้อมกับสวมชุดเกราะกันกระสุนและหมวกเหล็ก ไม่เกี่ยวกับว่ายุคนั้นเป็นยุคที่สงบสุข ไม่เพียงเท่านั้น เขาถึงกับดัดแปลงบ้านตนเองให้เป็นป้อมปราการที่มีหลุมหลบภัยใต้ดิน และเขาได้จ้างบอดี้การ์ดร่างใหญ่รายล้อม ในขณะเดียวกันเขาก็รู้สึกหวาดระแวงบอดี้การ์ดของตนเองไปด้วย เขาจะถูกครอบงำอย่างเหลือเชื่อไปด้วยความคิดเรื่องกินอาหารสุขภาพและออกกำลังกายอยู่เสมอ

เห็นได้ชัดว่ากิจวัตรของตัวละครหลักจะต้องใช้เงินจำนวนมาก ซึ่งในกรณีนี้ ตัวละครหลักของคุณจะต้องมาจากครอบครัวที่ร่ำรวย หรือเขาจะต้องมีฝีมือในการหาเงินอย่างมาก นี่จะสามารถเอาตัวละครหลักไปพัฒนาได้ไกลต่อไปอีก ยกตัวอย่างเช่น เขาไม่มีงานอดิเรกเพื่อความสนุกสนานเลย แต่ทำงานอย่างหนักตลอดเวลาเพื่อหาเงิน...

และหากคุณสร้างสภาพเหตุการณ์นี้ในโลกอื่น ถ้าอย่างนั้นแล้ว โดยธรรมชาติตัวละครหลักจะมีการฝึกฝนวิชาอย่างหนัก แน่นอนว่าเขาต้องมีเทคนิคและฝีมือในการตั้งรับมากมายให้เลือกใช้ ไม่เพียงเท่านั้น ตัวละครหลักของคุณควรมีอารมณ์เย็น ไม่ใช่คนที่ชอบท้าทายและต่อสู้กับคนอื่น

แต่การไม่มีความขัดแย้งเลย นั่นหมายความว่าเรื่องจะกลายเป็นค่อนข้างน่าเบื่อ ดังนั้น ในการที่จะทำให้เรื่องมีความน่าสนใจมากขึ้น คุณจะต้องใส่เหตุผลว่าทำไมตัวละครหลักถูกบังคับให้ต้องต่อสู้กับคนอื่น ยกตัวอย่าง ตัวละครหลักของคุณบังเอิญดื่มยาวิเศษที่เปลี่ยนให้เลือดของเขากลายเป็นยาที่สามารถเพิ่มพลังให้ใครก็ตามที่ได้ดื่มเลือดเข้าไป...

วิธีนี้มันค่อนข้างยากมากกว่าวิธีอื่นทีเดียว เหล่านักเขียนมืออาชีพไม่แนะนำให้นักเขียนมือใหม่ทำวิธีนี้

| เริ่มจากเอาไอเดียจากสื่ออื่นๆ

วิธีนี้ยิ่งท้าทายมากยิ่งกว่าการเริ่มจากตัวละครหลัก นักเขียนเองจำเป็นต้องมีระดับความสามารถในความคิดสร้างสรรค์มากเป็นพิเศษ

ในสถานการณ์แบบนี้ คุณในฐานะนักเขียน สามารถลองใช้ไอเดียจากสื่ออื่นๆ เช่นภาพยนตร์ รายการโทรทัศน์ ข่าวในสังคม สิ่งที่เห็นรอบตัวคุณหรืออะไรอื่นๆ ที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้คุณได้ เพื่อว่าคุณจะได้มีวัตถุดิบในการเขียนเรื่องที่เป็นต้นฉบับแท้ๆ ของคุณ

เห็นได้ชัดว่าวิธีนี้ไม่เหมาะกับนักเขียนมือใหม่เลย

| เริ่มจากความต้องการของตลาด

วิธีนี้ก็เป็นวิธีระดับสูงอีกแบบหนึ่ง ที่ไม่เหมาะกับนักเขียนมือใหม่เช่นกัน

นักเขียนมือเก่าเจนสนามที่มีความเข้าใจเรื่องความต้องการของตลาดเท่านั้น ควรจะพยายามเขียนเรื่องต่อไปของเขาโดยดูจากความต้องการของตลาด และจากความต้องการของผู้อ่านด้วย

สรุปได้ว่าการเลือกประเภทนิยายที่จะเขียนสำหรับนักเขียนมือใหม่อย่างคุณ อย่างแรกเลยคุณสามารถพิจารณาเกี่ยวกับประเภทของนิยายที่อยากจะเขียน หรือเลือกที่จะเขียนตามกระแสนิยมของนวนิยายที่กำลังนิยมในขณะนั้น หรือเริ่มจากการสร้างองค์ประกอบความได้เปรียบ นั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีเหมือนกัน

2. เรื่องประเภทนี้เหมาะกับฉันไหม?

ถ้าจะตอบให้ตรงคำถาม มันหมายความว่าคุณต้องตัดสินใจว่า ประเภทนิยายที่คุณต้องการจะเขียนเป็นประเภทที่คุณคุ้นเคยและมีฝีมือในการเขียนแนวนั้นหรือไม่

แน่นอนว่านักเขียนแต่ละคน จะมีฝีมือการเขียนหลากหลายระดับแตกต่างกันไปตามแนวถนัดของตน

และความยากง่ายของแต่ละแนวยังมีความสัมพันธ์โดยตรงกับประเภทของนิยายนั้นด้วย เพราะฉะนั้น จะมีการกล่าวถึงความยากง่ายของนิยายแต่ละประเภทในบทความต่อๆ ไปด้วย

นักเขียนมือใหม่สามารถที่จะวัดตนเองตามหัวข้อข้างล่างนี้ ก่อนจะตัดสินใจเลือกแนวเรื่องใดๆ ก็ตาม

| ความรู้

หัวข้อนี้อ้างอิงถึงความรู้ระดับมืออาชีพ ความรู้ระดับคนธรรมดา ประสบการณ์พิเศษและอื่นๆ

เนื้อเรื่องนิยายบางหัวข้อจะเกี่ยวข้องกับข้อมูลระดับมืออาชีพตามโลกแห่งความจริง ซึ่งนักเขียนต้องใช้ความรู้ระดับมืออาชีพเป็นพิเศษที่มีอยู่แล้วมาใช้ตามหัวข้อในเรื่อง เช่น บาสเกตบอล การเมืองในยุคกลางของตะวันตก วัตถุโบราณ การพนัน การแข่งขัน และอื่นๆ อีกมากมาย หากเรื่องของคุณเกี่ยวกับอะไรในลักษณะที่กล่าวมา และคุณมีความรู้อยู่แล้ว หรือได้ทำการค้นคว้ารวบรวมข้อมูลไว้อย่างดี นั่นก็เป็นตัวช่วยอย่างดีเยี่ยมเลยทีเดียว

ในทางกลับกัน ถ้าคุณอยากจะเขียนเรื่องในหัวข้อที่คุณไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับมัน คุณควรพิจารณาใหม่อีกที

| บุคลิกภาพ

หัวข้อนี้อ้างอิงถึงคุณ บุคลิกของนักเขียน แน่นอนว่าไม่มีความจำเป็นต้องมองลึกลงไปเกินเหตุเพื่อวิเคราะห์บุคลิกของตนเองให้ยุ่งยาก คุณแค่ต้องมีความเข้าใจโดยรวมต่อบุคลิกของคุณเอง ยกตัวอย่างเช่น คุณเป็นคนเก็บตัวหรือชอบเข้าสังคม เป็นต้น

ถ้าพูดกันตามปกติก็คือ สำหรับนักเขียนมือใหม่แล้ว ไม่แนะนำให้เขียนบุคลิกของตัวละครหลักให้แตกต่างไปจากตัวผู้เขียนมากนัก ไม่อย่างนั้น นอกจากคุณจะรู้สึกกระดากใจในเวลาเขียนแล้ว มันยังง่ายที่จะเผลอทำผิดพลาด เขียนบุคลิกของคุณลงไปแทนที่จะเป็นของตัวละครหลัก ส่งผลให้การกระทำของตัวละครหลักดูไม่สอดคล้องและไม่คงที่กับบุคลิกที่วางไว้ในตอนแรก

เห็นได้ชัดว่าสิ่งนี้จะส่งผลกระทบต่อการที่จะทำให้ผู้อ่านรู้สึกมีความสุขกับการอ่านนิยายของคุณได้

เมื่อคุณเลือกหัวข้อที่จะเขียนเรื่องแล้ว เราสามารถบอกได้ว่าบุคลิกตัวละครหลักของเราควรจะมีความเกี่ยวโยงโดยตรงกับหัวข้อของเรื่อง จากมุมมองนี้ยังพูดได้อีกว่า บุคลิกของนักเขียนเองก็ส่งผลต่อการเลือกหัวข้อที่คุณควรจะเขียนด้วย

| อายุและเพศ

หัวข้อนี้เข้าใจได้ง่ายมาก เพราะนี่อ้างอิงถึงอายุและเพศของนักเขียนเองอีกเช่นกัน

มันก็เหมือนกับหัวข้อที่แล้ว ใช้หลักเหตุผลแบบเดียวกันกับเพศของตัวละครหลัก ปกติแล้วจะไม่แนะนำให้เขียนตัวละครหลักมีเพศต่างจากคุณด้วยเหตุผลเดียวกัน และเงื่อนไขนี้ยังเกี่ยวโยงไปถึงการเขียนให้อายุของตัวละครหลักแตกต่างจากตัวนักเขียนมากเกินไป มันจะง่ายขึ้นมาก ถ้าเขียนให้ตัวละครหลักมีอายุใกล้เคียงและเพศเดียวกันกับนักเขียนด้วย

| จินตนาการ

สำหรับจินตนาการ ไม่มีเกณฑ์อะไรที่เฉพาะเจาะจงนัก มันขึ้นอยู่กับการตีความเป็นการส่วนตัวของนักเขียนเองเท่านั้น ถ้าคุณรู้สึกว่าคุณเป็นคนขาดความสามารถในการจินตนาการแล้ว มีคำแนะนำว่าให้คุณเลือกเรื่องประเภทที่เน้นความเป็นจริง เช่นนิยายสมัยใหม่หรือประวัติศาสตร์

ตรงกันข้าม หากคุณมีจินตนาการสูงลึกล้ำ แน่นอนว่าคุณน่าจะเหมาะสมกับการเขียนแนวแฟนตาซี วิชาการต่อสู้ และเรื่องที่ใช้จินตนาการเป็นหลักในการดำเนินเรื่อง

| ความสนใจส่วนบุคคล

หัวข้อนี้อ้างอิงถึงรสนิยมส่วนตัวในการอ่านของนักเขียน หากคุณอ่านแนวเรื่องประเภทใดประเภทหนึ่งมากกว่าแนวอื่นๆ ถ้าอย่างนั้น โดยธรรมชาตินักเขียนมือใหม่อย่างคุณ น่าจะเขียนในแนวที่คุณชอบอ่านได้ง่ายเป็นพิเศษกว่าแนวอื่น

| บทสรุปหัวข้อทั้งหมด

ได้มีการกล่าวถึงเรื่องนี้ไปแล้วในบทความก่อนหน้า หลังจากที่เราคิดหัวข้อเรื่องเฉพาะได้แล้ว เราจะสรรหาและสรุปข้อมูลต่างๆ ไปตามหัวข้อเรื่องที่เราเลือกไว้ รวมถึงการใช้คุณสมบัติความได้เปรียบ การสร้างตัวละครหลัก การสร้างภูมิหลังของเรื่องและอื่นๆ บางทีการสร้างสรรค์เรื่องราวด้วยวิธีเหล่านี้จะเข้ากันได้ดีทุกแง่มุมในเรื่อง แต่บางทีก็อาจมีองค์ประกอบบางอย่างที่เข้ากันไม่ได้ เพราะเงื่อนไขบางข้ออาจขัดแย้งกันเองก็เป็นได้

ไม่ว่าหัวข้อที่คุณเลือกเพื่อเขียนเรื่องจะเหมาะสมหรือไม่ ส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับรากฐานของเรื่องที่กำหนด ว่ามีความขัดแย้งกันเองมากแค่ไหน และไม่ว่าคุณจะมีวิธีแก้ไขความขัดแย้งในโครงเรื่องได้หรือไม่ หรือคุณต้องเสียสละความสนุกของเรื่องเพื่อขจัดความขัดแย้งของโครงสร้างเรื่องราวออกไป ถ้าอย่างนั้นมันก็ไม่ใช่หัวข้อที่ดีสำหรับคุณที่จะเอามาเขียนเลย

นี่เป็นหัวข้อที่นักเขียนทุกคนควรพิจารณาก่อนที่พวกเขาจะลงมือเขียนนิยายของตนเอง

ไม่ว่านิยายเรื่องหนึ่งจะกลายเป็นที่นิยมหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่ามันเหมาะกับตลาดและผู้อ่านเพียงใด แต่ที่นักเขียนมือใหม่ควรพิจารณาอีกหนึ่งตัวแปร – นวนิยายของพวกเขาจะได้รับการต้อนรับจากบรรณาธิการหรือไม่

ได้มีการเอ่ยถึงไปก่อนหน้าในบทความที่แล้วว่า บรรณาธิการจะชอบนิยายของคุณหรือไม่ มันสำคัญต่อนักเขียนมือใหม่มาก มากกว่าตลาดจะชอบหรือไม่ชอบนิยายของคุณเสียอีก

เมื่อมีการเลือกนิยายประเภทที่จะเขียน ผู้คนส่วนมากจะพูดว่า “ไม่มีแนวไหนที่ดีที่สุดสำหรับทุกคนหรอก มีแค่แนวที่ดีที่สุดสำหรับคุณเท่านั้น” ไม่ต้องสงสัยเลยว่านั่นเป็นคำคมที่ถูกต้อง สำนวนโวหารเหล่านั้น ช่วยในการเลือกหัวข้อที่จะเขียนได้เช่นกัน

มันยังมีตัวแปรอื่นๆ อีก เช่น มันขึ้นอยู่กับเว็บไซต์นั้นๆ และบรรณาธิการแต่ละคน การเลือกหัวข้อเรื่องที่เหมาะสมกับความสามารถของคุณ เป็นวิธีที่จะเพิ่มโอกาสในการได้ทำสัญญาตีพิมพ์มากขึ้น

โดยทั่วไป ยิ่งเว็บไซต์ใหญ่และมีพลังมากเท่าใด บวกกับมีบรรณาธิการที่มีประสบการณ์ พวกเขาจะให้ความสำคัญกับประเภทและหัวข้อของเรื่องน้อยลง ตราบใดที่เป็นเรื่องที่ดีจริง พวกเขาจะยินดีที่จะเซ็นสัญญากับคุณ

สำหรับเว็บไซต์ขนาดเล็กลงมาและบรรณาธิการใหม่กว่า โดยทั่วไปพวกเขาจะเลือกหนังสือตามความต้องการของเว็บไซต์ ซึ่งปกติจะมีสองหมวดคือ นวนิยายที่สามารถเป็นที่นิยมได้ และนวนิยายที่เว็บไซต์ขาดแคลนอยู่

หมวดแรก หมวดนี้เข้าใจได้ง่ายและจัดการได้ง่ายทีเดียว นักเขียนแค่ต้องดูที่นวนิยายอันดับสูงสุดของเว็บไซต์ และดูที่เว็บหน้าแรกที่แนะนำหนังสือน่าอ่านไปด้วยกัน เพื่อดูว่าเป็นนิยายแนวเรื่องและประเภทไหนกำลังเป็นที่นิยมในขณะนั้น

แน่นอนว่าถ้าคุณอยากเข้าใจมากขึ้นอีก คุณอาจจะเข้าไปเช็กที่หน้าแรกของเว็บไซต์สัปดาห์ละครั้ง ติดต่อกันสักสองสามสัปดาห์เพื่อที่จะได้ลดผลกระทบจากผลลัพธ์ที่ไม่คงที่ในสัปดาห์ต่อสัปดาห์ของเว็บไซต์ ซึ่งอาจทำให้คุณตีความข้อมูลผิดพลาดได้

หมวดที่สอง เพื่อที่จะมองเข้าไปให้ตรงจุด นั่นคือเว็บไซต์ได้พัฒนากลยุทธ์การหานิยายบางประเภทมาเผยแพร่ได้เป็นอย่างดีอยู่แล้ว ดังนั้นอย่าเข้าใจผิดว่า เมื่อทางเว็บต้องการนวนิยายบางประเภทที่ขาดแคลน หมายความว่าคุณจะสามารถเรียกร้องเพิ่มราคาเมื่อคุณตกลงทำสัญญาได้ หรือนิยายประเภทที่เว็บไซต์กำลังขาดแคลนเป็นประเภทที่ดีมากๆ

สำหรับแนวเรื่องบางประเภทที่หายากมาก มันยากที่จะรวบรวมและประเมินมูลค่าให้แม่นยำได้ และตามปกติยังมีลักษณะเฉพาะสองประการดังนี้

ประการแรก โดยทั่วไปนิยายประเภทนี้จะมียอดผู้อ่านเฉพาะกลุ่มจำนวนหนึ่ง แม้ว่ามันจะไม่ใช่ประเภทที่มีความนิยมสูง แต่อย่างน้อย นิยายประเภทนี้ ไม่ใช่ประเภทที่อยู่อันดับล่างสุด

ประการที่สอง บางทีเป็นเพราะที่หน้าเว็บไซต์มีช่องการแนะนำนิยายอยู่หลายเรื่อง แต่คุณอาจเห็นแนวนี้ได้แค่สามสี่เรื่องเท่านั้น ที่เหลือคุณต้องกดเข้าไปดูอีกชั้น ทำให้ไม่มีใครเห็นหนังสือที่น่าสนใจอื่นๆ หรือเรื่องประเภทนี้คนอ่านไม่ค่อยเพิ่มขึ้น ทำให้ไม่ได้รับความนิยมอย่างที่ควรจะเป็น

หนังสือสองหมวดนี้เป็นประเภท “กลุ่มหนังสือโปรดของบรรณาธิการ” และที่จริงถ้ามองให้กว้างขึ้นอีก หนังสือนิยายเหล่านี้ยังเป็นตัวแทนของความชอบของผู้อ่านด้วย สำหรับนักเขียนมือใหม่ ข้อมูลแค่นี้ก็เพียงพอแล้ว ไม่จำเป็นต้องวิเคราะห์เจาะลึกลงไปว่าตลาดต้องการนิยายประเภทใดอีก

ยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่เป็นตัวแปรสำคัญที่นักเขียนมือใหม่ต้องคิดถึง นั่นคือ คุณในฐานะนักเขียน ชอบนิยายประเภทกระแสนิยมเหล่านี้หรือเปล่า? คำถามนี้เป็นตัวแปรที่สำคัญมาก แต่ยังเป็นสิ่งที่ถูกละเลยอยู่เสมอ

มีนักเขียนมือใหม่มากมายที่พยายามเริ่มต้นด้วยการเขียนหนังสือแนวกระแสนิยม โดยไม่คำนึงถึงว่าตนเองจะชอบหรือไม่ ทำอย่างนี้มีแต่จะล้มเหลว ทำให้นิยายที่ตนเขียนไม่ได้รับความนิยม หรือที่แย่ที่สุด นวนิยายที่คุณเขียนไม่ได้มาตรฐานที่คุณหวังไว้ และด้วยเหตุนี้ เป็นไปได้มากว่าจะทำให้คุณเกิดความเบื่อหน่ายอย่างมากเวลาที่ต้องเขียนมัน จนในที่สุดคุณก็จะยอมแพ้กับทุกสิ่งที่คุณพยายามสร้างมาตั้งแต่ต้นทั้งหมด

ในสถานการณ์กลับกันที่อาจจะเป็นได้ หากคุณในฐานะนักเขียนหน้าใหม่ เขียนนิยายในแนวเรื่องประเภทที่คุณโปรดปราน มันจะทำให้คุณพัฒนาความสามารถในการรับคำวิจารณ์และความกดดันได้มากขึ้น อีกทั้งยังช่วยพัฒนาคุณภาพนิยายของคุณเป็นอย่างมากในตอนท้ายอีกด้วย

นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมนักเขียนมือใหม่ต้องพิจารณาตามเหตุผลที่กล่าวมานี้เป็นอันดับแรกสุดเลย ว่าคุณจะชอบแนวเรื่องและหัวข้อที่คุณเลือกหรือไม่ ไม่ว่าบรรณาธิการหรือใครจะคิดอย่างไรก็ไม่สำคัญในตอนนี้

...................................................................................

5 1 โหวต
Article Rating
0 Comments
Inline Feedbacks
ดูความคิดเห็นทั้งหมด