ตอนที่แล้วบทที่ 2-1 สามองค์ประกอบหลักของนิยายออนไลน์
ทั้งหมดรายชื่อตอน
ตอนถัดไปบทที่ 3 เขียนนิยายที่มีการเติมเต็มให้ชีวิตอย่างไร…ให้ผู้อ่านสนใจ

บทที่ 2-2 สามองค์ประกอบหลักของนิยายออนไลน์


องค์ประกอบที่ 2 การสร้างอารมณ์ร่วม

การสร้างอารมณ์ร่วม อ้างอิงถึงการเขียนให้ผู้อ่านรู้สึกเหมือนว่าพวกเขาเข้าไปเป็นตัวละครในนิยาย ทำให้พวกเขารู้สึกเหมือนกำลังเผชิญเหตุการณ์ในเรื่อง และแน่นอนว่า ตัวละครตัวนี้ ส่วนใหญ่ก็ต้องเป็นตัวละครหลัก

พูดง่ายๆ ก็คือว่า ผู้อ่านจะมองเห็นพวกเขาเป็นตัวละครหลักขณะอ่านนิยายเรื่องนั้น

ความสำเร็จหรือล้มเหลวของการใช้พลังอิทธิพลการสร้างอารมณ์ร่วมในนิยายออนไลน์นั้นมีผลมากทีเดียว แค่ลองคิดดูว่า ถ้ามีเหตุการณ์ในเรื่องแบบเดียวกันกับที่เคยเกิดกับคุณในชีวิตจริง กับเรื่องคนแปลกหน้าและเหตุการณ์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับคุณเลย จะให้ผลกระทบกับความรู้สึกและอารมณ์ของเราจะแตกต่างกันอย่างมหาศาลขนาดไหน

นวนิยายเรื่องใดก็ตามที่สามารถทำให้สร้างอารมณ์ร่วมได้ จะทำให้ผู้อ่านรู้สึกมีความสุข เมื่อตัวละครหลักมีความสุข และมีความเศร้า เมื่อตัวละครหลักเศร้า รู้สึกเป็นทุกข์เมื่อตัวละครหลักโดนแกล้ง และรู้สึกรื่นรมย์ เมื่อตัวละครหลักแสดงความแข็งแกร่งออกมา เพียงแค่เขียนให้เรื่องสามารถทำให้ผู้อ่านรู้สึกว่าเขาเป็นคนดำเนินเรื่องในนิยาย นักเขียนจะประสบความสำเร็จในการทำให้ผู้อ่านมีความสุขกับการอ่านนิยายจนแทบไม่อยากวางมันลงเลยทีเดียว

ส่วนในด้านตรงข้ามกัน นิยายเรื่องใดที่มีไม่สามารถทำให้สร้างอารมณ์ร่วมได้ ก็เท่ากับทำให้ผู้อ่านเสียเวลา เหมือนกับขอให้คนหูหนวกฟังคอนเสิร์ต ไม่ว่าจะใส่องค์ประกอบการเติมเต็มให้ชีวิตลงไปในเรื่องมากแค่ไหน ผู้อ่านจะเพียงรู้สึกแค่ “ใครจะสน? แล้วมันเกี่ยวอะไรกับฉัน?”

เห็นอยู่แล้วว่า นวนิยายออนไลน์ที่ประสบความสำเร็จ จำเป็นต้องมีคุณสมบัติในการดึงให้ผู้อ่านมีอารมณ์ร่วม ในกรณีนี้ เราจะเขียนอย่างไร?

มันทำได้ง่ายทีเดียว การเขียนให้ผู้อ่านมีอารมณ์ร่วมไปกับนิยายเรื่องนั้นๆ ขึ้นอยู่กับระยะห่างหรือความใกล้ชิดที่ผู้อ่านรู้สึกต่อตัวละครหลัก หรือจะกล่าวให้เห็นภาพว่า มันยากแค่ไหนที่จะทำให้ผู้อ่านพาตนเองเข้าไปอยู่ในจุดที่ตัวละครหลักเผชิญอยู่ ที่จริงแล้ว นิยายทุกเรื่อง เริ่มต้นก็มีความสามารถดึงผู้อ่านให้มีอารมณ์ร่วมอยู่ระดับหนึ่งแล้ว ทันทีที่ผู้อ่านเริ่มอ่าน เขาก็จะเริ่มมีอารมณ์ร่วมไปกับตัวละครหลักเป็นคนแรก หลังจากนั้นพวกเขาจะเริ่มสังเกตเห็นความแตกต่างระหว่างตัวเขาและตัวละครหลัก เช่นฐานะทางสังคม วิธีคิด พฤติกรรม และอื่นๆ ตัวแปรทั้งหมดนี้สามารถผลักผู้อ่านออกห่าง และลดการสร้างอารมณ์ร่วมที่มีต่อเรื่องราวได้

นี่เป็นเหตุผลที่ชัดเจนว่าทำไมผู้อ่านทั้งชายและหญิง เลือกอ่านเรื่องที่ตัวเอกมีเพศเดียวกับตนเอง เพราะมันเกี่ยวข้องกับการมีอารมณ์ร่วมไปกับตัวละครในนิยายเรื่องนั้น และด้วยเหตุผลนี้เช่นกัน ที่ทำให้เรื่องที่มีตัวละครหลักที่ไม่ใช่มนุษย์ จะยากมากที่จะกลายเป็นนิยายที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง และบางเรื่องที่ฝ่าฟันจนประสบความสำเร็จได้ เกือบจะทั้งหมดเป็นเพราะว่าตัวละครหลัก ถ้าไม่เป็นฮิวแมนนอยด์ ก็มีความคิดแบบมนุษย์ มีเพียงองค์ประกอบนี้เท่านั้นที่ช่วยตัวละครหลักที่ไม่ใช่มนุษย์ ดึงผู้อ่านให้เข้าไปมีอารมณ์ร่วมได้

สำหรับนักเขียนมือใหม่ที่ต้องการพัฒนาฝีมือในการเขียนนิยายของเขาให้สร้างอารมณ์ร่วมกับผู้อ่านได้ วิธีที่ง่ายที่สุดคือการสร้างขอบเขตบางอย่างขึ้นมาจำกัดสถานะโดยรวมของตัวละครหลัก เพียงกำหนดวัยของตัวละครหลัก สถานะทางสังคม วิธีคิด และอื่นๆ ให้ใกล้เคียงกับกลุ่มผู้อ่านที่ต้องการให้มากที่สุด

องค์ประกอบที่ 3 ความได้เปรียบ

ความได้เปรียบ อ้างอิงถึงตัวละครหลักที่มีความพิเศษหรือมีความได้เปรียบเฉพาะที่เหนือทุกคนในเรื่อง

มีช่องทางมากมายที่สามารถใส่ความได้เปรียบลงไปในการเขียนนิยายออนไลน์ ตัวอย่างเช่น ตำราช่างโบราณ อาจารย์ที่ทรงพลัง ร่างกายที่แข็งแกร่งพิเศษ อะไรก็ตามที่ล้ำหน้ากว่าใคร สามารถจัดอยู่ในองค์ประกอบความได้เปรียบทั้งสิ้น

มีกลุ่มความได้เปรียบอยู่ 4 กลุ่ม

กลุ่มแรกคือ ความได้เปรียบทางทรัพย์สมบัติ

ตัวละครหลักอาจได้รับของพิเศษที่ไม่เหมือนใคร เช่น ยานอวกาศของมนุษย์ต่างดาว คอมพิวเตอร์จากอนาคต ยาวิเศษที่ถูกทิ้งไว้โดยเผ่าพันธุ์อมตะโบราณ หรือแว่นตาวิเศษที่สามารถมองทะลุทุกสิ่ง

กลุ่มที่สองคือ ความได้เปรียบทางความสามารถ

ตัวละครหลักอาจมีความสามารถพิเศษที่ไม่เหมือนใคร เช่นล่องหนได้ เดินทะลุกำแพงได้ บินได้ อ่านใจได้ หรือสร้างทองคำ...

กลุ่มที่สามคือ ความได้เปรียบทางพรสวรรค์

ตัวละครหลักอาจมีพรสวรรค์พิเศษบางด้าน หรือมีพื้นฐานครอบครัวที่ดีมาก บางทีพ่อของตัวละครหลักเป็นประธานาธิบดี หรือครูของเขาคือจักรพรรดิ หรือเขาเกิดมาพร้อมกับร่างกายที่เหมาะกับการฝึกวิทยายุทธอย่างมาก...

กลุ่มที่สี่คือ ความได้เปรียบเรื่องความรู้

บางที ตัวละครหลักเดินทางย้อนกลับไปในอดีตหลายร้อยปีก่อน นั่นหมายความว่าตัวละครหลักมีความรู้เรื่องเทคโนโลยี   ปัจจุบัน เหมือนตัวอย่างเรื่องกลับชาติมาเกิด ที่ตัวละครหลักย้อนกลับไปหลายปีในอดีต นั่นหมายความว่าเขาจะรู้ว่า อีกหลายปีข้างหน้า โลกจะพัฒนาไปอย่างไร อีกทั้งยังมีเรื่องราวเกี่ยวกับการถอดวิญญาณเดินทางข้ามไปสู่อีกโลกหนึ่ง บางทีนักสู้คนหนึ่งที่เก่งวิชาการต่อสู้มาก ได้ถูกเรียกวิญญาณไปสู่โลกแห่งเวทมนตร์ บางที ต่อมาเขาได้พบว่า มีเพียงเขาคนเดียวที่รู้วิชาการต่อสู้และรู้เรื่องตำรับยาสมัยใหม่...

ถ้าหากการจินตนาการเกี่ยวกับความต้องการ เป็นรากฐานให้แก่นกลางของนิยายออนไลน์แล้ว การสร้างอารมณ์ร่วมคือส่วนผสมที่จำเป็นที่จะทำให้ผู้อ่านสนุกไปกับการอ่านนิยายของคุณ ถ้าอย่างนั้น ความได้เปรียบ ก็เป็นรากฐานที่ช่วยผลักเรื่องราวของนิยายให้เดินหน้าไปได้

เหตุผลของเงื่อนไขนี้ง่ายมาก สำหรับผู้อ่านส่วนใหญ่ พวกเขาคือคนธรรมดาที่พบได้ทั่วไป ต้องขอบคุณต่อข้อจำกัดของการสร้างอารมณ์ร่วม ตัวละครหลักของเรื่องไม่สามารถมีความพิเศษมากเกินไป อย่างไรก็ตาม ความต้องการของการเติมเต็มให้ชีวิต ทำให้ต้องเขียนให้ตัวละครหลักนั้นดีกว่าคนอื่นในบางด้าน หรือมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าคนอื่น...

เมื่อทำเช่นนั้น ทำให้เกิดความขัดแย้งในตัวองค์ประกอบเองระหว่างการเติมเต็มให้ชีวิตกับการมีอารมณ์ร่วม ว่าทำไมคนธรรมดาๆ จะมีชีวิตที่ดีเยี่ยมได้อย่างไร? มันมีผลลัพธ์ร่วมกัน 3 ข้อ ของการเขียนเรื่องโดยไม่ใส่ความได้เปรียบลงไปในโครงเรื่อง

1 – นักเขียนเขียนให้มีปาฏิหาริย์เกิดขึ้นกับตัวละครหลักเป็นประจำและความบังเอิญบ่อยๆ ช่วยให้เขาหนีรอดจากอันตรายได้ วิธีจัดการกับการดำเนินเรื่องแบบนี้ ที่จริงคือการให้ความได้เปรียบซ่อนเร้นกับตัวละครหลัก – พล็อตเกราะกำบัง เนื่องจากนี่ไม่ใช่ความได้เปรียบ โดยทางเทคนิคแล้ว มันคือเหตุการณ์ในเรื่อง แต่การมีโชคดีมากเกินไป สามารถทำให้ผู้อ่านรู้สึกว่าเหตุการณ์ในเรื่องขาดความสมจริง ซึ่งจะทำลายการมีอารมณ์ร่วมในเรื่อง และทำลายความสุขในการอ่านของผู้อ่านด้วย

2 – นักเขียนเลี่ยงที่จะให้ตัวละครหลักมีโชคดีบ่อยๆ แต่ใช้วิธีปรับปรุงเงื่อนไขของตัวละครหลัก – ยกระดับสถานะครอบครัวเขาหรือให้เขาพัฒนาฝีมือขึ้นมา การเขียนอย่างนี้ ถ้ามากถึงจุดจุดหนึ่ง ก็เท่ากับการให้ความได้เปรียบซ่อนเร้นกับตัวละครหลักเหมือนกัน ไม่เพียงเท่านั้น ถ้าหากตัวละครหลักได้มีฐานะทางบ้านดีมาก นั่นมันก็ดีในเรื่องบางประเภท มันมีผลกระทบจิตใจผู้อ่านได้ง่ายในเรื่องการเติมเต็มให้ชีวิต เนื่องจากสถานะทางสังคมของผู้อ่านแตกต่างจากตัวละครหลักในเรื่อง

3 – นักเขียนพยายามสุดความสามารถที่จะไม่ใช้พลังอิทธิพลของการเติมเต็มให้ชีวิต แต่วางพล็อตให้สมเหตุผล โดยจำกัดความสำเร็จต่างๆ ของตัวละครหลัก อย่างไรก็ตาม เมื่อทำอย่างนั้น ทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ไปลดความพึงพอใจของผู้อ่านที่จะได้รับจากการจินตนาการว่าได้รับสิ่งที่ปรารถนาผ่านทางประสบการณ์ชีวิตของตัวละครหลัก ในทางหนึ่ง นิยายแบบนี้ได้หลงทางไปจากสิ่งที่นิยายออนไลน์ควรจะเป็น

ดังนั้น ความได้เปรียบที่ใส่เข้ามาในเรื่องของนิยายออนไลน์ ก็เพื่อที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้งกันเองระหว่าง การเติมเต็มให้ชีวิตกับการสร้างอารมณ์ร่วม ตัวละครหลักนั้นจริงๆ ก็คือคนธรรมดาที่พยายามฝึกฝนตนเองจนกลายเป็นคนแข็งแกร่ง และนั่นก็เป็นเพราะตัวละครหลักครอบครองความได้เปรียบอยู่

บางทีอาจมีคนถามว่า แล้วการมีความได้เปรียบเป็นองค์ประกอบในการดำเนินเรื่อง จะไม่ทำลายความสมจริงไปด้วยหรือ?

คำตอบง่ายมากคือ ใช่

แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ด้านหนึ่ง คุณมีเรื่องที่ตัวละครหลักมีขบวนพาเหรดแห่งปาฏิหาริย์และความบังเอิญที่เหลือเชื่อคอยช่วยอยู่ตลอดเรื่อง แต่อีกด้านหนึ่งคุณมีเรื่องที่ตัวละครหลักที่เริ่มต้นด้วยการมีความได้เปรียบเพียงครั้งเดียว ซึ่งมันทำให้ทุกอย่างในเรื่องลงตัว และเป็นข้อแก้ตัวที่เยี่ยมทีเดียว สำหรับตัวละครหลักธรรมดาสามารถกลายเป็นแข็งแกร่งขึ้นมาได้ ซึ่งวิธีหลังนี้ผู้อ่านจะยอมรับได้ง่ายกว่า ไม่เกี่ยวกับว่ามันเห็นชัดอยู่แล้วว่าเป็นแค่นิยาย

ในขณะที่นวนิยายออนไลน์กำลังเติบโตพัฒนาขึ้นมาตามทางของมัน กลุ่มผู้อ่านได้คุ้นเคยกับตัวละครหลักที่มีข้อได้เปรียบในเรื่องอยู่แล้ว ในความเป็นจริง ผู้อ่านบางคนถึงกับตัดสินใจเลือกที่จะอ่านนิยายของคุณต่อหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าตัวละครหลักมีความได้เปรียบแบบไหนเสียด้วยซ้ำ

และนั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมการใส่ความได้เปรียบให้กับตัวละครหลักของคุณ ได้รับการยอมรับอย่างสิ้นเชิงว่ามันเป็นสิ่งจำเป็น แน่นอนว่า แม้จะเป็นดังกล่าว นักเขียนมือใหม่จำเป็นต้องให้ความสนใจต่อการแต่งเรื่องที่มีพล็อตสมเหตุสมผล หรือพูดให้ตรงคือ แต่งเรื่องของคุณให้สมเหตุผลให้มากที่สุด แม้จะเห็นชัดอยู่แล้วว่ามันเป็นนิยายที่คุณเขียนจากจินตนาการ แต่ทำให้มันรู้สึกเป็นธรรมชาติจนถึงจุดที่ผู้อ่านลืมไปว่ามันเป็นแค่เรื่องที่แต่งขึ้นเท่านั้น

จะขอยกตัวอย่างดังนี้ ตัวละครหลักของคุณคือหนอนหนังสือ เขาเป็นคนจืดๆ ธรรมดา วันหนึ่งจู่ๆ เขาได้รับการฝึกสอนจากผู้คงกระพันท่านหนึ่ง และเรียนรู้มากมายจนถึงขั้นผ่านการทดสอบทั้งหมดได้คะแนนเป็นอันดับ 1

แม้ว่านี่เห็นได้ชัดว่าแต่งขึ้น แต่อย่าลืมว่า ผู้อ่านทุกคนรู้อยู่แล้วว่าผู้คงกระพันไม่มีตัวตนอยู่จริง แต่ถ้าคุณเขียนให้เหตุการณ์มีการพลิกผัน - โดยตอนแรกแนะนำตัวละครหลักก่อน และอธิบายว่าเขาทำงานหนักแค่ไหนในการเรียนรู้ฝึกฝนทุกวัน แม้จะยากจนและมีความเจ็บปวดในชีวิตที่ยากเย็นแสนเข็ญตลอดมา และเขียนถึงว่าเขาเป็นคนเมตตากรุณาขนาดไหน ก่อนที่จะพบกับผู้คงกระพันที่มาเห็นและประทับใจในความมีจริยธรรมของเขา สิ่งนี้จะช่วยให้เรื่องดูมีความสมเหตุผล หรือ คุณไม่จำเป็นแม้กระทั่งต้องให้ผู้คงกระพันปรากฏร่างให้เห็น คุณแค่เขียนให้มีฉากที่ผู้คงกระพันปรากฏในฝันของตัวละครหลักเพื่อสอนวิชาเขา ทำให้ตัวละครหลักแยกไม่ออกว่า ทุกอย่างเป็นเรื่องจริงหรือปลอมหลังจากเขาตื่นขึ้น แต่ที่แน่ๆ เขากลายเป็นคนเก่งขึ้นมากหลังจากนั้น เขียนแบบนี้  แม้ว่าการดำเนินเรื่องของคุณและความได้เปรียบยังคงเหมือนเดิม แต่มันจะฟังดูเป็นธรรมชาติมากขึ้น

องค์ประกอบทั้งสามอย่างที่กล่าวมานั้น คือสามองค์ประกอบที่สำคัญยิ่งยวดต่อนวนิยายออนไลน์ ในขณะที่กำลังสร้างสรรค์นิยายของพวกเขา นักเขียนทุกคนต้องพินิจพิจารณาในการใส่สามองค์ประกอบสำคัญนี้ลงไป – อะไรคือความได้เปรียบของตัวละครหลักของฉัน? ทำอย่างไรฉันจะเพิ่มเงื่อนไขลงไปให้ผู้อ่านมีอารมณ์ร่วมไปกับตัวละครหลักมากขึ้น และฉันจะเพิ่มองค์ประกอบ “การเติมเต็มให้ชีวิต” ลงไปได้อย่างไร?

เพื่อที่จะเปรียบเทียบไอเดียให้ชัดเจน การเขียนนิยายเป็นเหมือนการสร้างบ้านด้วยชิ้นไม้ คุณไม่สามารถตัดสินไม้ชิ้นเดียวว่าดีหรือแย่ สิ่งที่ดีหรือแย่คือวิธีที่คุณนำชิ้นไม้มาประกอบเข้าด้วยกัน ถ้าฝีมือการประกบไม้เข้าด้วยกันของคุณดี แม้ว่าชิ้นไม้จะคุณภาพต่ำหรือไม่สมบูรณ์ คุณยังสามารถสร้างบ้านที่สวยงามขึ้นมาได้ ในขณะที่ไม่ว่าชิ้นไม้ของคุณจะมีคุณภาพดีแค่ไหนก็ตาม ถ้าคุณไม่เขียนแปลนให้ดีและสร้างมันอย่างรอบคอบ ก็เท่ากับว่าคุณไม่ได้สร้างอะไรเลยนอกจากก้อนขยะกองหนึ่ง

..........................................................................

0 0 โหวต
Article Rating
0 Comments
Inline Feedbacks
ดูความคิดเห็นทั้งหมด