ตอนที่ 4 พหุยุทธ์
เมื่อพระอาจารย์สิริเห็นว่าเหนือภพพักจนหายเหนื่อยแล้ว ท่านก็เริ่มทำการถ่ายทอดเพลงมวย ‘พหุยุทธ์’ ให้กับเหนือภพ
พหุ แปลว่า มาก ดังนั้น พหุยุทธ์ ก็คือเพลงมวยต่อสู้ระยะประชิดที่ใช้หมัด เท้า เข่า ศอก ศีรษะ และส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเป็นอาวุธได้ทั้งหมด
เริ่มแรกของการฝึกก็คือการเดิน การย่างก้าว การเคลื่อนไหวเข้าประชิดคู่ต่อสู้ในระยะสั้นและระยะยาว ทุกท่าทางจะต้องว่องไวเฉียบขาด ไม่ทิ้งร่องรอย หรือเคลื่อนไหวอย่างสิ้นเปลือง และจะต้องฝึกจนกว่าทุกฝีเท้าจะมั่นคง
ซึ่งกว่าเขาจะทำสำเร็จ ไม่สิ จะใช้คำว่าสำเร็จไม่ได้ กว่าเขาจะเคลื่อนไหวได้ถูกใจพระอาจารย์สิริก็ใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 6 เดือน พระอาจารย์ถึงจะยอมสอนสิ่งที่เรียกว่าการต่อสู้จริง ๆ ให้เขา
โดยกระบวนท่าพหุยุทธ์ มีกระบวนท่าที่สามารถนับได้ทั้งหมด 147 กระบวนท่า แต่ละท่าจะนับเป็นหนึ่งขั้น หรือพูดอีกอย่างว่า พหุยุทธ์ 147 ขั้น
พระอาจารย์บอกว่ากระบวนท่าในพหุยุทธ์นั้น หากรู้เพียงแค่ 15 ขั้นแล้วฝึกจนชำนาญก็สามารถแปรเปลี่ยนได้เป็นร้อย
หากรู้และฝึกจนชำนาญครบ 30 ขั้นก็สามารถแปรเปลี่ยนได้นับพัน
หากเรียนรู้ครบ 147 ขั้นฝึกจนชำนาญแปรเปลี่ยนได้นับหมื่น ทั่วร่างกายแปรเปลี่ยนเป็นคมศาสตราวุธรุกต้านทำลายรอบทิศ
ทว่านับตั้งแต่ที่เพลงมวยพหุยุทธ์ถูกถ่ายทอดมารุ่นต่อรุ่น ผู้ที่สามารถฝึกจนครบ 147 ขั้นได้นั้นมีจำนวนเพียงน้อยนิด และผู้ที่ฝึกสำเร็จก็ล้วนเป็นเจ้าอาวาสในแต่ละรุ่น
เหนือภพตั้งใจจะถามแต่ยังไม่ทันอ้าปาก พระอาจารย์สิริก็ไขข้อข้องใจให้กับเหนือภพราวกับอ่านใจได้
“ศิษย์พี่ของพวกเจ้า โดยเฉพาะเจ้าทานธรรมพี่ใหญ่สุดน่ะ มันฝึกได้แค่ 29 ขั้นก็หนีจากข้าไปแล้ว ส่วนเจ้าจักรเหมือนจะดีหน่อย แต่ทนฝึกได้ 30 ขั้น ยังไม่ทันขัดเกลากระบวนท่าขั้นที่ 30 ให้ชำนาญก็หนีจากข้าไปเหมือนกัน”
อาจารย์จับจ้องไปยังศิษย์คนที่สามอย่างเหนือภพ ศิษย์ที่ดูเหมือนจะสามารถเรียนรู้ได้ไวที่สุด และสามารถฝากความหวังไว้ได้มากที่สุด แตกต่างจากคนอื่น ๆ แต่ความอดทนของเหนือภพจะมีมากแค่ไหนนั้นก็ต้องรอดูกันต่อไป
การฝึกหัดมวยพหุยุทธ์นั้นจะต้องอาศัยความมานะพยายาม ต้องอดทนต่อความเจ็บปวดผสมผสานกับการเรียนรู้คุณธรรมจริยธรรม บังคับอารมณ์ไม่ให้โกรธหรือฉุนเฉียวง่าย
ซึ่งเคล็ดลับการฝึกของเหนือภพก็ไม่ได้ต่างจากศิษย์พี่ทั้งสอง ในการเผชิญหน้ากับความเจ็บปวด โชคดีที่เหนือภพมีคือความดันทุรัง และความอดทนมากเป็นทุนเดิม ยิ่งใจเขามุ่งมั่นที่จะแข็งแกร่ง รวมกับร่างกายที่ตื่นตัวได้ตลอดเวลา ไม่ต้องหลับไม่ต้องนอน ทำให้เขาสามารถฝึกฝนได้ต่อเนื่องตลอดทั้งวันทั้งคืน
แต่น่าแปลกที่พระอาจารย์สิริเองก็สามารถอยู่กับเขาได้ตลอดคืนเช่นกัน โดยท่านจะนั่งสมาธิอยู่ตลอดเวลาที่ใต้ต้นไทรโบราณ หากเหนือภพข้องใจเรื่องอะไร ท่านก็จะให้คำตอบแก่เขาในทันที
นอกจากนี้ท่านเองก็ยังหาว่านชนิดต่าง ๆ มาทำยาให้เขา และในรอบสามเดือนก็จะมีเนื้อสัตว์อสูรพิเศษมาให้เขากินบำรุงอยู่เสมอ
วันเวลาผ่านไปนับปี การฝึกก็ทวีความยากและความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ ในทุก ๆ วัน แต่เหนือภพก็สามารถใช้มวยพหุยุทธ์ 15 ท่าแรกได้อย่างชำนาญ
พอเข้าปีที่ 2 ก็สามารถชำนาญมวยพหุยุทธ์อีก 15 ท่าเป็น 30 ขั้น จนอยู่เหนือศิษย์พี่ทั้งสอง และหลังจากที่เหนือภพสำเร็จ พระอาจารย์สิริก็ไม่ได้เข้มงวดกับเหนือภพอีก แต่ท่านยังคงสอดแทรกการนั่งสมาธิให้เหนือภพได้ซึมซับอยู่เสมอ ๆ
พระอาจารย์สิริใช้เวลาอีกหนึ่งปีสอนท่วงท่า 117 ขั้นที่เหลือของมวยพหุยุทธ์ให้เหนือภพ จนกระทั่งเขาสามารถจดจำท่าเหล่านั้นได้ขึ้นใจ
และแล้วอายุของเหนือภพก็ปาเข้าไป 17 ปี ร่างกายของเขาสูงใหญ่แข็งแรงกำยำ ด้วยสรรพคุณฤทธิ์ยาบำรุงมากมาย ทั้งยังมีผิวพรรณเนียนละเอียด ใบหน้าขาวใสผุดผ่อง หน้าตาหล่อเหลาขึ้นมากหากเทียบกับวัยเยาว์ที่มีใบหน้าด้าน กระ เต็มไปด้วยสิว
เหนือภพคุกเข่าก้มกราบผู้เป็นอาจารย์สามครั้งอย่างที่เคยทำทุกวันๆ เมื่อขอรับการสั่งสอน
“อาจารย์ทำไมท่านถึงห้ามไม่ให้ข้าฝึกท่าช่วงหลังให้ชำนาญล่ะครับ”
“เจ้าอย่าได้ใจร้อน ค่อย ๆ เป็นค่อย ๆ ไป ระหว่างนี้เจ้าก็หมั่นฝึก 30 ท่าขั้นต้นให้ชำนาญเสียก่อน หากท่าพื้นฐานนั้นยังฝึกไม่คล่อง การใช้ท่าใดท่าหนึ่งใน 117 ท่าก็จะเป็นอันตรายต่อตัวเจ้าเอง”
“เอ่อ อาจารย์ข้าว่าข้าชำนาญแล้วนะ ข้าสามารถใช้ท่าได้ทันทีหลังที่ท่านสอน แถมยังจำได้แม่น รู้จังหวะว่าควรจะออกท่าไหน เวลาไหน ข้ารู้สึกว่าข้าทำพวกมันออกมาได้สมบูรณ์แบบแล้ว”
“เจ้ายังเด็กนักเจ้าภพ จำคำข้าเอาไว้ให้ดี คำว่าสมบูรณ์แบบที่แท้จริงนั้นไม่มีหรอก มีแต่คำว่าพัฒนาให้ดีกว่าเดิมเท่านั้น หากเจ้าคิดว่าตัวเองสมบูรณ์แบบเมื่อใด เมื่อนั้นแหละคือวันที่เจ้าจะไม่สามารถพัฒนาตัวเองได้อีกต่อไป
ข้ารู้ดีว่าเจ้าในตอนนี้อาจจะเก่งกว่าพวกศิษย์พี่ในตอนนั้น แต่ต่อให้เจ้ารู้มวยพหุยุทธ์ครบทุกกระบวนท่า ก็ไม่สามารถเทียบกับศิษย์พี่ที่มีเพียง 30 ท่าแต่หมั่นฝึกฝนอยู่เสมอ เจ้าเข้าใจหรือไม่”
เหนือภพตาเป็นประกายทันที
“ครับอาจารย์”
“เพลงมวยพหุยุทธ์แต่เดิมมันก็คือการเตะต่อยธรรมดา แต่บูรพาจารย์แต่ละรุ่นก็ช่วยกันพัฒนาให้มีชั้นเชิงมากขึ้น จาก 1 ท่ากลายเป็น 15 ท่า จาก 15 ท่า กลายเป็น 30 ท่า จนสุดท้ายก็มีมากถึง 147 ท่า
เจ้าจำไว้ให้ดี 147 ท่าไม่ใช่ขั้นสูงสุดของมวยพหุยุทธ์ และมันย่อมไม่มีจุดสิ้นสุด หากเจ้ารู้จักฝึกฝนและพัฒนา ในอนาคตเพลงมวยพหุยุทธ์อาจจะมีมากกว่า 147 ขั้น อาจจะไปถึง 160 หรือ 200 ขั้นเลยก็ได้”
เหนือภพซึมซับคำที่พระอาจารย์บอก ทุก ๆ วันเขาหมั่นฝึกซ้อมกระบวนท่าใน 30 ขั้นแรกเป็นอย่างดี หมั่นฝึกซ้อมเสมอ พอได้ฝึกบ่อย ๆ ได้ซึมซับกระบวนท่าเหล่านั้น เขาก็ได้คำตอบว่า 15 ท่าแรกล้วนเป็นพื้นฐานของ 15 ท่าหลัง และกระบวนท่าทั้ง 30 ท่านี้ยังเป็นพื้นฐานของ กระบวนท่าขั้นที่ 31 และกระบวนท่าขั้นที่ 1 ถึงขั้นที่ 31 ก็ยังเป็นพื้นฐานของกระบวนท่าขั้นที่ 32 มันเป็นแบบนี้จนถึง 147 ท่า หากพื้นฐานไม่แน่นก็ไม่อาจใช้ท่าหลัง ๆ ได้เต็มประสิทธิภาพอย่างแน่นอน
เพลงมวยพหุยุทธ์โดยหลักการนั้นสามารถแบ่งได้เป็นสองประเภท ประเภทแรกคือ มวยแกร่ง คือการต่อสู้อย่างรัดกุม สุขุมรอบคอบ การเคลื่อนตัวแต่ละก้าวย่างเต็มไปด้วยความระมัดระวัง ไม่คึกคะนอง เน้นการตั้งรับและรอจังหวะ เน้นการโจมตีหนักหน่วง รุนแรง และแม่นยำ สยบคู่ต่อสู้ได้ด้วยกระบวนท่าชุดเดียว
ส่วนประเภทที่สองคือ มวยอ่อน มีวิธีการต่อสู้ที่ใช้ชั้นเชิงแพรวพราว ไม่หยุดนิ่ง เคลื่อนไหวไปมาเพื่อหลอกล่อ หลบหลีกได้ดี มุ่งเน้นให้คู่ต่อสู้สับสนจับทางยาก สามารถใช้สภาพแวดล้อมให้เป็นประโยชน์ในการต่อสู้ สามารถออกอาวุธได้อย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง
ซึ่งการจะประสานเพลงมวยทั้งสองสองประเภทมีจุดเด่นต่างกันเข้าด้วยกัน ก็ต้องใช้ประสบการณ์ยาวนานในการฝึกอย่างเป็นขั้นเป็นตอน รวมถึงประสบการณ์ในการต่อสู้จริงด้วย หากขาดองค์ประกอบใดไปก็ยากที่จะเข้าใกล้คำว่าสมบูรณ์แบบ